ขนาดหน้าอก จะลดลงพร้อมกับน้ำหนักไหม?
ขนาดหน้าอก ผู้หญิง 100% ล้วนอยากให้มีขนาดใหญ่ขึ้นทั้งนั้น เวลาใส่เสื้อผ้าจะได้ดูดี จะเซลฟี่ก็มั่นใจขึ้น
ห่วงยางรอบเอวก็อยากเอาออก ลดน้ำหนักก็อยากลด แต่ถ้าลดแล้วหน้าอกมีขนาดเล็กลง ก็อาจจะทำให้สาวๆหลายคน กลับไปกินให้อ้วนดีกว่า อย่างน้อยตอนใส่เสื้อผ้าก็ยังดูดี
มีปัจจัยหลายอย่างที่มีผลต่อขนาดหน้าอกของผู้หญิง ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในช่วงมีประจำเดือน ยา/อาหารเสริม และอาหารที่กินอยู่ ฯลฯ วันนี้เรามาดูกันว่า ขนาดของหน้าอกจะลดลงไปพร้อมกับน้ำหนักหรือเปล่า อยากรู้…ตามมาเลยครับ!
ขนาดหน้าอก จะลดลงพร้อมกับไขมันไหม?
การได้ซื้อชุดโปรดมาใส่หลังจากลดน้ำหนักได้สำเร็จนั้น เป็นสิ่งที่ผู้หญิงทุกคนชอบอยู่แล้ว แต่ถ้าต้องไปซื้อ Bra ใหม่เพื่อให้เข้ากับขนาดหน้าอกที่เล็กลง มันอาจจะทำให้หลายคนเซ็งไปเลยทีเดียว
การที่น้ำหนักลดลงนั้น ร่างกายเราได้นำเอาไขมันที่สะสมไว้มาใช้เป็นพลังงาน บวกกับมีการควบคุมปริมาณพลังงานแคลอรี่เพื่อไม่ให้มีไขมันเพิ่มขึ้น ไขมันบางส่วนที่ร่างกายนำมาเผาผลาญเป็นพลังงาน ก็อาจจะมาจากหน้าอกด้วย
ขนาดหน้าอกที่ลดลงจะขึ้นอยู่กับว่า ในช่วงที่น้ำหนักเกินนั้น ร่างกายสะสมไขมันตรงหน้าอกเยอะแค่ไหน
ร่างกายของคนเราสะสมไขมันในแต่ละจุดมากน้อยต่างกันไป เช่น ผู้หญิงบางคนขาใหญ่แต่พุงเล็ก หรือบางคนก็มีไขมันที่ต้นแขนเยอะกว่าจุดอื่นๆ เป็นต้น ผู้หญิงที่ลดน้ำหนักส่วนใหญ่ ขนาดหน้าอกจะลดลงน้อยมาก จนแทบจะดูไม่ออกเลย
ออกกำลังกาย มีผลต่อขนาดหน้าอกไหม?
โดยทั่วไป การออกกำลังกายจะไม่มีผลอะไรต่อขนาดหน้าอกเลย (หรือมีก็สังเกตยากมาก) เพราะหน้าอกของผู้หญิง อยู่บนกล้ามเนื้อ Pectoralis minor และ Pectoralis major หรือเรียกสั้นๆว่า “Pecs” ซึ่งหน้าอกไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของกล้ามเนื้อ 2 ส่วนนี้ และได้รับผลกระทบน้อยมากจากการออกกำลังกาย เช่น เล่นเวท เทรนนิ่ง
ร่างกายดึงไขมันตรงหน้าอกมาเป็นพลังก่อน?
ผู้หญิงส่วนใหญ่พอเริ่มเห็นผลจากการลดน้ำหนัก ก็มักจะคอยสังเกตไขมันตรงหน้าท้องอยู่ประจำ และก็จะพลอยสังเกตขนาดของหน้าอกไปด้วย เพราะกล้ามเนื้อสองส่วนนี้อยู่ตรงด้านหน้า มองกระจกทีไรก็จะเห็นเป็นอันดับแรก แต่ที่จริง ขนาดต้นขา น่อง สะโพกอาจจะเล็กลงเรื่อยๆ แต่เราไม่ค่อยได้สังเกตเอง
ในส่วนของการกระจายตัวของไขมัน (Fat Distribution) ร่างกายเราจะค่อยๆนำไขมันจากจุดที่เผาผลาญง่ายที่สุดมาใช้เป็นพลังงานก่อน ส่วนใหญ่แล้วที่สุดท้ายที่ร่างกายจะดึงไขมันออกมาใช้ คือ ไขมันที่หน้าท้อง นี่คือเหตุผลว่าทำไม (ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย) ซิกแพกสวยๆ ถึงมายากเย็นแสนเข็ญ
การออกกำลังกายที่ถูกต้อง คือ การบริหารกล้ามเนื้อให้ครบทุกส่วน เพื่อให้ร่างกายมีรูปร่างสมส่วน การเผาผลาญไขมันโดยรวมเป็นไปได้ดีทั่วร่างกาย ห้ามเด็ดขาด คือ การเน้นไปที่ส่วนใดส่วนหนึ่ง (Spot Reduction) หรืออ้วนตรงไหน เน้นบริหารตรงนั้น นี่คือความเข้าใจผิดครับ
อย่างที่ผมเกริ่นไปก่อนหน้าว่า ร่างกายของผู้หญิงแต่ละคนสะสมไขมันต่างกัน เช่น บางคนกินเท่าไหร่พุงก็ไม่ป่องเลย แต่ต้นขาใหญ่มากเพราะร่างกายสะสมไขมันตรงนี้มากที่สุด
ขนาดของหน้าอกก็เหมือนกัน ถ้าใครที่สะสมไขมันที่หน้าอกมากกว่าส่วนอื่น ในช่วงลดน้ำหนัก ขนาดหน้าอกอาจจะลดลงอย่างเห็นได้ชัด เพราะร่างกายดึงไขมันจากส่วนนี้มาใช้เป็นพลังงานนั่นเองครับ
ลดน้ำหนักแบบเร่งด่วน ทำให้หน้าอกหย่อนยานหรือเปล่า?
การที่จะให้คำตอบที่ชัดเจน ผมว่าต้องแบ่งคำตอบออกเป็นสองส่วน
ส่วนแรก อัตราความเร็วในการลดน้ำหนัก (Weight-loss Ratio) ไม่มีผลอะไรกับความยืดหยุ่น (Elasticity) ของผิวหนังเลย รวมไปถึงหน้าอกด้วย
ส่วนที่สอง คือ ถ้าเราลดน้ำหนักได้เยอะ เช่น คนอ้วน 150 กิโลกรัม ลดน้ำหนักได้จนเหลือแค่ 80 กิโลกรัม ผิวหนังจะเหี่ยวย่น มีรอยแตกลาย (Stretch Marks) และหย่อนคล้อยได้ เพราะไขมันที่เคยมีอยู่เยอะได้ยืดผิวหนังออกไปนั่นเอง เราอาจจะเคยเห็นคนอ้วนที่ลดน้ำหนักได้เยอะๆ เข้าผ่าตัดเพื่อกำจัดผิวหนังส่วนเกิน (Excess Skin) ออก เพื่อให้กล้ามเนื้อ และผิวหนังกระชับขึ้น
สรุปคือ อัตราความเร็วในการลดน้ำหนักไม่มีผลต่อความยืดหยุ่น และความหย่อนคล้อยของผิวหนัง แต่ถ้าเราลดน้ำหนักได้เยอะๆ ไขมันที่หายไปจะทำให้ผิวหนังหย่อนยานได้ ยิ่งหน้าอกมีลักษณะที่หย่อนคล้อยอยู่แล้ว เมื่อโดนแรงโน้นมถ่วงดึง บวกกับไขมันที่หายไป อาจจะทำให้เรารู้สึกว่า หน้าอกหย่อนยานมากกว่าเดิม
ลดน้ำหนักอย่างไร ไม่ให้กระทบขนาดของหน้าอก?
วิธีแก้คือ เวท เทรนนิ่ง ครับ โดยเฉพาะท่าบริหารหน้าอก เช่น Bench Press, Chin-ups และ Rowing เพราะเวท เทรนนิ่งจะช่วยสร้างมวลกล้ามเนื้อ ทำให้รูปร่างสมส่วน และกล้ามเนื้อจะเข้าไปแทนที่ในส่วนของไขมันที่หายไป
คาร์ดิโอ เช่น วิ่ง เดินเร็ว ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน ฯลฯ เป็นการออกกำลังกายที่เน้นไปที่การเผาผลาญไขมัน แต่เวท เทรนนิ่ง จะช่วยเร่งให้ระบบเมตาบอลิซึม (Metabolism) ทำงานได้เร็วขึ้น เพราะถ้าวิ่งมากขึ้น น้ำหนักก็อาจจะลดลงเร็วขึ้น แต่น้ำหนักที่ลดลงเรื่อยๆ โดยไม่มีมวลกล้ามเนื้อเข้ามาช่วย ระบบเมตาบอลิซึมก็จะทำงานช้าลงเรื่อยๆตามมา ดังนั้น อย่าวิ่งอย่างเดียว ต้องเสริมเวท เทรนนิ่ง ในโปรแกรมออกกำลังกายเข้าไปด้วย
ถ้าคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์ รบฝากกดปุ่ม Share ด้านล่าง เพื่อเป็นกำลังใจด้วยนะครับ ขอบคุณครับ