ลดน้ำหนักด้วยกล้วย แบบสาวญี่ปุ่น?
ลดน้ำหนักด้วยกล้วย เขาบอกว่าเป็นวิธีที่ง่าย กล้วยก็ราคาถูก แถมมีสารพัดประโยชน์ จึงเหมาะกับสาวๆที่ต้องการลดน้ำหนัก
แต่มันต่างกันอย่างไรกับการควบคุมาหารทั่วไป ช่วยลดน้ำหนักอย่างไร และบางคนบอก ลิงกินกล้วยทุกวันยังเบื่อเลย แล้วเราจะทำตามได้นานแค่ไหน?
ในบทความนี้ ผมโค้ชเค ขออาสาเป็นฮีโร่เพื่อมาไขข้อข้องใจเหมือนเดิมครับ
ลดน้ำหนักด้วยกล้วย ฉลับสาวญี่ปุ่น
สูตรลดน้ำหนักมีอะไรแปลกๆโผล่ขึ้นมาเรื่อย เมื่อวานนั่งดู Facebook แล้วเจอโฆษณา “ลดน้ำหนักด้วยกล้วย แบบฉลับคนญี่ปุ่น” ด้วยความเป็นคนที่ขี้สงสัยอยู่แล้ว ก็เลยไปค้นหาข้อมูลเพิ่มเติม และเจอข่าวที่เขียนถึงปรากฏการณ์กล้วยขาดตลาดในญี่ปุ่น
สาวๆญี่ปุ่นพากันลดน้ำหนักแบบ “Morning Banana Diet” ซึ่งเป็นการควบคุมอาหารแบบกินกล้วยตอนเช้า เพราะเขาเชื่อว่ากล้วยจะช่วยลดน้ำหนักได้
แน่นอนว่าการเรากินกล้วยแทนโดนัทนั้น มันดีกว่าสุขภาพและน้ำหนักตัวอยู่แล้ว แต่กล้วยไม่ใช่ผลไม้ที่มีสารอาหารหลัก (Macronutrients) ครบทุกตัว นั่นคือ โปรตีน คาร์โบไฮเดรต และไขมัน
ดังนั้น กล้วยไม่ควรใช้เป็นอาหารหลักที่จะมาช่วยให้เราลดน้ำหนัก เพราะในระยะยาวอาจจะมีผลข้างเคียงต่อร่างกายได้ โดยเฉพาะระบบเผาผลาญพลังงาน
กล้วย มีประโยชน์อะไรบ้าง?
ผลไม้ทั่วไป เช่น กล้วย แอปเปิ้ล และสาลี่ ล้วยเป็นแหล่งคาร์โบไฮเดรตชั้นยอด เพราะมีทั้งน้ำตาลธรรมชาติ เส้นใยอาหาร วิตามินและแร่ธาตุ
กล้วย 100 กรัม (กล้วยน้ำว้าประมาณ 2 ลูก) มีเส้นใยอาหารถึง 2.6 กรัม ถ้าคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ก็จะเท่ากับ 10% ของปริมาณที่แนะนำต่อวันเลยทีเดียว
เส้นใยอาหารไม่มีแคลอรี่ แต่จะเข้าไปเพิ่มพื้นที่ในกระเพาะอาหาร ช่วยให้เราอิ่มท้องนานขึ้น ซึ่งเหมาะมากในช่วงลดน้ำหนัก
กล้วย ยังอุดมไปด้วยแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างหาย เช่น โพแทสเซียม (Potassium) ซึ่งมีส่วนช่วยให้สุขภาพหัวใจของเราแข็งแรง ช่วยให้ร่างกายขับโซเดียม (Sodium) ออกทางปัสสาวะได้มากขึ้น จึงช่วยลดความดันโลหิตด้วย
วิตามินบี 6 ที่ได้จากกล้วย มีส่วนช่วยเร่งให้ระบบเผาผลาญทำงานมากขึ้น ส่วนวิตามินซี (Vitamin C) จะเป็นตัวกำจัดอนุมูลอิสระ และช่วยให้ผิวเปร่งปรั่ง
เห็นหรือยังครับว่า กล้วยมีสารอาหารที่มีประโยชน์จริง แต่เราก็ไม่ควรกินแต่กล้วยเพื่อลดน้ำหนัก หรือใช้กล้วยเป็นอาหารหลักในการลดน้ำหนัก การกินอาหารที่หลากหลายและอาหารที่เราชอบ คือทางออกที่ดีที่สุด
การลดน้ำหนักที่ถูกต้อง ควรเป็นอย่างไร?
จริงๆแล้ว ผู้หญิงส่วนใหญ่ก็จะมองหา สูตรและวิธีลดน้ำหนัก ที่ฟังแล้วทำตามง่าย ลดน้ำหนักได้จริง และไม่โยโย่ กันทั้งนั้นแหละครับ
สูตรลดน้ำหนักและสินค้าที่โฆษณาว่าสามารถช่วยให้เราลดน้ำหนักได้ เช่น ลดน้ำหนักด้วยกล้วย แบบสาวญี่ปุ่น นี้ก็เหมือนกัน ต่างก็แนะนำให้เราออกกำลังกาย และควบคุมอาหารไปด้วยอยู่ดี
เพื่อที่จะให้สินค้าหรือสูตรลดน้ำหนักได้ผล เราต้องควบคุมอาหาร และออกกำลังกายไปด้วย มันจะดีกว่าไหมครับ ถ้าเราควบคุมพลังงานแคลอรี่ต่อวันให้พอดี และกินอาหารที่หลากหลายเพื่อให้ได้ทั้ง โปรตีน คาร์โบไฮเดรต และไขมัน ครบทุกตัว?
เคล็ดลับลดน้ำหนัก มีจริงไหม?
ร่างกายของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เวลาผมให้คำปรึกษาในการลดน้ำหนัก ผมจะเอาปัจจัยหลายอย่างมาพิจารณา เช่น อายุ น้ำหนัก ส่วนสูง สิ่งแวดล้อมรอบตัว และการใช้ชีวิตในแต่ละวัน เป็นต้น
ดังนั้นสูตรลดน้ำหนักที่เพื่อนเราทำตามแล้วได้ผล ไม่ได้หมายความว่ามันจะได้ผลกับเราเหมือนกัน อีกอย่าง ถ้าการลดน้ำหนักนั้น ทำให้น้ำหนักลดลงแบบฮวบๆ มันก็จะขึ้นแบบฮวบๆ ได้เหมือนกัน
เซลล์ไขมันคือต้นเหตุ
เซลล์ไขมัน คือ เซลล์ที่สามารถขยายขนาด และเพิ่มปริมาณได้
ลองนึกภาพตามนะครับ ถ้าเราซื้อตู้เย็นมา 1 เครื่อง เพื่อให้พอดีกับของที่มีอยู่ในบ้าน แล้วอีก 2 อาทิตย์ เราซื้อของกินมาเพิ่ม ปรากฏว่าตู้เย็นไม่พอเก็บของ เราก็ต้องขยายพื้นที่ หรือซื้อตู้เย็นอีกเครื่อง
เซลล์ไขมันก็เหมือนกันครับ ถ้าเรากินอาหารเยอะขึ้นเรื่อยๆ มันสามารถขยายตัวเพื่อรองรับพลังงานที่เพิ่มขึ้น เมื่อขยายไม่ได้แล้ว ร่างกายจะผลิตเซลล์ไขมันใหม่ขึ้นมา และถ้าพื้นที่เก็บไขมันไม่เพียงพอ ร่างกายเราก็จะเริ่มเอาไขมันไปเก็บตามอวัยวะ เช่น ตับ เป็นต้นครับ
ร่างกายต้องการสะสมไขมันให้ได้มากที่สุดเพื่อให้เราอยู่รอด เพราะบรรพบุรุษมนุษย์สมัยก่อนเป็นนักล่า หน้าหนาวไม่มีอาหารกินต้องมีเซลล์ไขมันเยอะๆ
ฮอร์โมนหิว & ฮอร์โมนอิ่ม
ฮอร์โมนเลปติน (Leptin) คือ ฮอร์โมนที่บอกสมองว่า “อิ่มแล้วนะ” ส่วนฮอร์โมนเกรลิน (Ghrelin) คือ ฮอร์โมนที่บอกสมองว่า “หิวแล้วนะ”
ฮอร์โมนเกรลิน มีผลโดยตรงต่อความอยากอาหารของเรา เมื่อไหร่ที่ร่างกายเราได้รับพลังงานแคลอรี่น้อยลง (โดยเฉพาะคนที่อดอาหาร) ระดับฮอร์โมนเกรอลินจะพุ่งขึ้นถึงขีดสูงสุด ทำให้เราอยากกินทุกอย่างที่ขวางหน้าในช่วงลดน้ำหนัก
ดังนั้น การกินอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะอาหารที่มีโปรตีนและเส้นใยอาหารสูง เช่น ปลาทะเล ผักและผลไม้ เป็นต้น จะช่วยให้เราอิ่มท้องนานขึ้น และลดน้ำหนักได้ง่ายกว่า
กินแบบมีสติ (Mindful Eating)
ส่วนใหญ่ ความหิวไม่ได้เกิดจากการไม่ได้กินอาหาร แต่เป็นเพราะอารมณ์ตอนนั้นต่างหาก เช่น เวลาที่เราเครียด โกรธ หรือมีความสุขที่สุด อาหารมักจะเป็นของคู่กัน
สิ่งแวดล้อมรอบตัวก็กระตุ้นให้เราอยากอาหารได้เหมือนกัน เช่น นั่งดูทีวีแล้วมีโฆษณาพิซซ่าขึ้นมา หืม…ชีสยืดเป็นกิโลซะขนาดนั้นจะไม่ให้อยากกินได้ยังไงใช่ไหมครับ?
มีดารา Hollywood คนหนึ่งเคยให้สัมภาษณ์ว่า เวลาเธอเครียดหรือรู้สึกกดดัน เธอไม่สามารถกินอะไรได้เลย และการที่เธอเป็นนักแสดงเธอจึงกดดันอยู่ตลอดเวลา ทำให้เธอกินน้อยลง หุ่นก็เลยดี (อันนี้ไม่ดีนะครับ)
มีวิธีเดียวที่จะแก้ปัญหาได้ คือ เราต้องกินแบบมีสติ ก่อนที่จะหยิบอะไรเข้าปาก ให้คิดก่อนว่าเราหิวจริงหรือว่าแค่อยากกิน แล้วพยายามเลี่ยงอารมณ์ สถาณการณ์ หรือสถานที่ ที่กระตุ้นให้เกิดความอยากอาหารครับ
คำแนะนำจากโค้ชเค
ผมไม่แนะนำให้ใครอดอาหารเพื่อลดน้ำหนัก สิ่งที่ควรทำ คือ เค่อยๆเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน ตั้งเป้าหมายในการลดน้ำหนัก หันมากินอาหารที่หาซื้อได้ง่ายและดีต่อสุขภาพ เน้นไปที่ความสมดุลย์ของสารอาหารหลัก คาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมัน
เป้าหมายในการลดน้ำหนักที่ดี ต้องชัดเจน และทำได้จริง ถ้าเราน้ำหนัก 100 กิโลกรัม แต่ไปตั้งเป้าหมายว่า “จะลดน้ำหนักให้เหลือ 50 กิโลกรัม ภายใน 3 เดือน” มันก็คงจะเป็นไปไม่ได้
เป้าหมายลักษณะนี้ นอกจากจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพแล้ว พอทำไม่ได้เราก็จะท้อ ซื่อสัตย์กับตัวเอง เรียนรู้ที่จะเผชิญหน้ากับสิ่งที่เราต้องทำเพื่อลดน้ำหนักครับ
พยายามเลี่ยงสูตรลดน้ำหนักที่แนะนำให้เราลดหรืองดอาหารบางอย่าง เพราะการลดน้ำหนัก คือ การเปลี่ยนมาดูแลสุขภาพให้แข็งแรง และเราควรทำได้ตลอดชีวิตครับ
แรงบัลดาลใจในการลดน้ำหนักก็สำคัญ รู้ไหมครับว่า J.K. Rowling กว่าที่จะมาเป็นนักเขียนที่ทำเงินมากที่สุดในโลก เธอผ่านความล้มเหลวมาเยอะมาก และถูกปฏิเสธจากสำนักพิมพ์ต่างๆถึง 12 สำนักพิมพ์ แต่ความผิดหวังไม่ทำให้เธอท้อ เธอสู้จนประสบความสำเร็จ
การลดน้ำหนักก็เหมือนกัน จะลดน้ำหนักให้สำเร็จ เราต้องมีความตั้งใจจริง และให้เวลากับมัน ถ้าเราพลาดไปกินของกินที่ไม่ดี หรือไปเที่ยวยุโรปแล้วปล่อยตัวไปอาทิตย์หนึ่ง ก็อย่าเพิ่งท้อ เราเริ่มต้นใหม่ได้เสมอครับ
ถ้าชอบบทความที่ผมเขียน อย่าลืมกด Share เพื่อเป็นกำลังใจด้วยนะครับ