หัวหอม (Onion) กับ 7 ประโยชน์ที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้
หัวหอม (Onion) ดูเผลินๆอาจจะเป็นได้แค่ “ผัก” ชนิดหนึ่ง แต่หัวหอมอุดมไปด้วยสารอาหารและงานวิจัยหลายชิ้นได้สรุปมาชัดเจนแล้วว่า สารอาหารเหล่านี้มีประโยชน์ต่อสุขภาพ
หัวหอมเป็นผักที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันกับ กระเทียม (Garlic) หอมแดง (Shallot) กระเทียมต้น (Leek) และ (1) ต้นหอมจีน (Chives)
รู้ไหมครับว่า…หัวหอมถูกนำมาใช้เป็นยารักษาอาการป่วย อาการปวดหัว โรคหัวใจ และแผลร้อนในที่ปาก (2)
วันนี้ ผมโค้ชเค จะพาทุกคนไปรู้จักกับ 7 ประโยชน์ของหัวหอมที่คนส่วนใหญ่ไม่เคยรู้ ตามมาเลยครับ
หัวหอม (Onion) มีประโยชน์อย่างไรบ้าง?
ก่อนอื่นผมอยากเกริ่นว่า หัวหอมมีชื่อเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า “Onion” และออกเสียงว่า “อันเยิน” ครับ
หัวหอมเป็นผักที่มีขนาด รสชาติ และสีที่แตกต่างกันไปตามพื้นที่และฤดูที่ปลูก ประโยชน์ที่เด่นๆของหัวหอมก็จะมีดังนี้ครับ
- ป้องกันและลดความเสี่ยงโรคมะเร็ง
- ลดความเครียด
- ช่วยให้เส้นผมแข็งแรง
- ช่วยบำรุงผิว
- ลดความเสี่ยงโรคเบาหวาน
- ลดความเสี่ยงโรคหัวใจ
- อุดมไปด้วยวิตามิน แร่ธาตุ และสารต้านอนุมูลอิสระ
- เข้ากับอาหารได้หลากหลายเมนู
แน่นอนว่าถ้าเรากินผักมากขึ้น เช่น หัวหอม สุขภาพโดยรวมก็จะดีขึ้นทันทีและโรคเรื้อรังก็จะลดลงอีกด้วย โดยเฉพาะโรคยอดฮิตนั่นคือ โรคเบาหวาน (Diabetes) โรคมะเร็ง (Cancer) และโรคหัวใจ (Heart Disease)
นอกจากจะช่วยลดความเสี่ยงของโรคเรื้อรังแล้ว หัวหอมยังจะช่วยเพิ่มสมรรถนะในการออกกำลังกาย เร่งการทำงานของระบบเผาผลาญเพื่อลดน้ำหนัก และช่วยให้สุขภาพผมและผิวแข็งแรงขึ้น
เรามาดูประโยชน์ของหัวหอมเป็นข้อๆดีกว่าครับ
มีสารอาหารที่มีประโยชน์สูง (Rich In Nutrients)
หัวหอมเป็นผักที่อยู่ในกลุ่ม “Nutrient-dense” นั่นหมายความว่า หัวหอมมีสารอาหารที่มีประโยชน์สูง เช่น วิตามินซี (Vitamin C) แต่ให้พลังงานแคลอรี่แค่นิดเดียว
หัวหอมขนาดกลาง 1 หัว จะให้พลังงานเพียง 44-50 แคลอรี่ แต่มีวิตามินซีสูงมาก ซึ่งวิตามินซีที่ได้จากหัวหอม คือ วิตามินที่สำคัญที่จะช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย ช่วยสร้างคอลลาเจน (Collagen) ต้านอนุมูลอิสระ ลดการอักเสบของกล้ามเนื้อ และเพิ่มอัตราการดูดซึมธาตุเหล็ก (Iron) เป็นต้น (3)
สำหรับคนที่ต้องการลดน้ำหนักและเผาผลาญไขมัน ไม่ควรพลาดหัวหอมเด็ดขาดครับ เพราะหัวหอมอุดมไปด้วยวิตามินบี โดยเฉพาะวิตามินบี 5 และ 6
วิตามินบี 2 ชนิดนี้ มีส่วนสำคัญในการเร่งระบบเผาผลาญของร่างกาย เพิ่มการผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดง และยังช่วยให้สมองทำงานได้ดีขึ้นอีกด้วยครับ (4)
ท้ายสุด หัวหอมมีแร่ธาตุโพแทสเซียม (Potassium) สูง ซึ่งแร่ธาตุนี้เป็นแร่ธาตุที่ผู้หญิงไทยมักจะได้รับจากอาหารน้อยเกินไปด้วย
โพแทสเซียมคือแร่ธาตุที่จำเป็นต่อการทำงานของหลอดเลือดและหัวใจ ช่วยปรับระดับน้ำในร่างกาย และมีส่วนช่วยในการทำงานของเซลล์ในร่างกาย ระบบกำจัดของเสียของไต การยืดและหดตัวของกล้ามเนื้อ และสารสื่อประสาทครับ (5)
มีสารต้านอนุมูลอิสระที่ดีต่อหัวใจ (Heart Friendly)
สารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidants) คือ สารที่จะช่วยลดออกซิเดชั่น (Oxidation) (6) ซึ่งพอเกิดขึ้นแล้วจะทำให้เซลล์ในร่างกายเสื่อมสภาพ จนอาจจะทำให้เสี่ยงต่อโรคมะเร็ง โรคหัวใจ และโรคเบาหวานได้ครับ
ตอนนี้นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบสารต้านอนุมูลอิสระในหัวหอมมากกว่า 25 ชนิดแล้ว สารต้านอนุมูลอิสระที่เด่นที่สุดคือ แอนโทไซยานิน (Anthocyanins) งานวิจัยพบว่าแอนโทไซยานินสามารถลดความเสี่ยงโรคหัวใจในผู้หญิง (25-42 ปี) ได้มากถึง 32% เลยทีเดียวครับ (7)
นอกจากนี้ หัวหอมมีสารต้านอนุมูลอิสระที่เรียกว่า เควอซิทิน (Quercetin) ซึ่งประโยชน์ที่เด่นๆของเควอซินมีดังนี้ครับ
- ลดการอักเสบ (Fight Inflammation)
- ลดระดับไตรกลีเซอไรด์ (Decrease Triglycerides)
- ลดระดับคอเลสเตอรอลเลว (Decrease LDL)
- ลดความดันโลหิต (Reduce Blood Pressure) (8)
- ลดการจับตัวของลิ่มเลือด (Reduce Blood Clots)
งานวิจัยที่มีผู้เข้าร่วมทดลองที่มีความดันโหลิตสูงพบว่า พอพวกเขาได้รับเควอซิทินที่สกัดจากหัวหอมในปริมาณ 162 มิลลิกรัมต่อวัน ความดันโลหิตลดลงมากกว่ากลุ่มที่กินยาหลอกถึง 3-6 มิลลิเมตรปรอท (mmHg) (9)
สรุปสั้นๆ คือ หัวหอมมีสารต้านอนุมูลอิสระที่มีส่วนช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจ และยังช่วยผู้ป่วยโรคหัวใจมีสุขภาพดีขึ้นอีกด้วย
หัวหอมคือศัตรูของมะเร็ง (Cancer-Nightmare)
งานวิจัยพบว่า พืชในวงศ์ Allium Genus เช่น กระเทียมและหัวหอมสามารถลดความเสี่ยงโรคมะเร็งในระบบทางเดินอาหารได้ถึง 22% (10)
อีกทั้งจากการศึกษางานวิจัยกว่า 16 ชิ้นพบว่า กลุ่มคนที่กินต้นหอมมีความเสี่ยง (11) โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ (Colorectal Cancer) ได้ถึง 15% (12)
ทั้งกระเทียมและหัวหอมมีสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidants) และสารประกอบซัลเฟอร์ (Sulfur Compounds) ที่ช่วยลดความเสี่ยงโรคมะเร็งและยับยั้งการเติบโตของก้อนเนื้อร้ายนั่นเองครับ (13)
ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด (Control Blood Sugar)
จริงๆแล้วการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดควรเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องทำ ไม่ใช่แค่ผู้ป่วยโรคเบาหวานเท่านั้น เพราะถ้าระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ในระดับสูงเกือบตลอดเวลา ร่างกายเราก็จะสะสมไขมันมากขึ้น เสี่ยงที่จะดื้อต่อฮอร์โมนอินซูลินมากขึ้น และเป็นโรคเบาหวานในที่สุดครับ
งานวิจัยที่มีผู้เข้าร่วมทดลองเป็นผู้ป่วยเบาหวาน จำนวน 42 คน พบว่ากลุ่มที่กินหัวหอม (สีแดง) วันละ 100 กรัม สามารถลดระดับน้ำตาล (ตอนท้องว่าง: Fasting Blood Sugar) ได้มากถึง 40 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ภายในเวลาแค่ 4 ชั่วโมงเท่านั้นครับ (14)
นอกจากนี้ เควอซิทิน (Quercetin) ยังช่วยให้อวัยวะต่างๆ เช่น กล้ามเนื้อ ตับ เนื้อเยื่อไขมัน ตับอ่อน ลำไส้เล็ก นำอินซูลินไปใช้เป็นพลังงานได้มากขึ้นอีกด้วยครับ (15)
ลดความเสี่ยงโรคกระดูกพรุน (Fight Osteoporosis)
ใช่แล้วครับ นอกจากเราจะต้องกินวิตามินดีและดื่มนมเพื่อให้ได้แคลเซียมแล้ว เราก็ควรจะกินหัวหอมเข้าไปเสริม เพื่อสุขภาพกระดูกที่แข็งแรงด้วย
เพราะงานวิจัยพบว่า ผู้หญิงวัยกลางคนและผู้หญิงที่หมดประจำเดือนที่ได้รับน้ำหัวหอม (Onion Juice) 100 มิลลิตรต่อเนื่องกันเป็นเวลา 2 เดือน มีความหนาของกระดูกเพิ่มขึ้น (16) นั่นหมายความว่ากระดูกแข็งแรงขึ้นกว่าเดิมนั่นเองครับ
ส่วนตัวผมก็ไม่เคยเห็น “น้ำหัวหอม” เหมือนกันครับ ดังนั้น ถ้าไม่สะดวกคั้นเองหรือหาซื้อไม่ได้ ก็ยายามกินหัวหอมให้ได้ทุกวันครับ เพราะงานวิจัยยืนยันมาแล้วว่า การกินหัวหอมทุกวันก็ช่วยให้สุขภาพกระดูกแข็งแรงเพิ่มขึ้นถึง 5% (17)
ช่วยลดอาการท้องผูก (Good For Digestive System)
หัวหอมอุดมไปด้วยเส้นใยอาหารและโปรไบโอทิกส์ ที่จำเป็นต่อระบบทางเดินอาหารครับ
(18) นักวิจัยพบว่าหัวหอมมี อินูลิน (Inuline) (19) ซึ่งเป็นเส้นใยอาหารประเภทที่ละลายได้ในน้ำ (Soluble Fiber) และ ฟรักโทโอลิโกแซ็กคาไรด์ (Fructo-Oligosaccharides) (20) ร่างกายเราจะใช้คาร์โบไฮเดรต 2 ชนิดนี้เป็นอาหารและเพิ่มปริมาณแบคทีเรีย (ดี) ในลำไส้ ที่มีหน้าที่ในการย่อยอาหารครับ
หัวหอมป้องกันไข้หวัดได้ไหม?
ตอบก่อนเลยว่า ไม่ได้ 100% ครับ ผมคิดว่าความเชื่อที่ผิดนี้น่าจะเกิดจากทฤษฎีที่ว่า “เราควรหั่นหัวหอมแล้วทิ้งไว้ในห้อง เพื่อที่จะให้หัวหอมดูดซึมเอาแบคทีเรียและเชื้อโรคออกไป”
แต่ถ้าเราคิดดูดีๆ เชื้อโรคไม่ได้อยู่แค่ในอากาศอย่างเดียว เชื้่อไวรัสและแบคทีเรียมีอยู่ทั่วไป เช่น บางทีเราอาจจะไปอยู่ใกล้เพื่อนร่วมงานที่กำลังเป็นหวัดอยู่ หรืออาจจะเผลอไปจับหรือใช้ภาชนะร่วมกับคนที่พร้อมจะแพร่เชื้อแบคทีเรีย แค่นี้เราก็ติดเชื้อได้แล้วครับ
วิธีป้องกันที่ดีที่สุด คือ พยายามล้างมือให้ถูกวิธีทุกครั้งก่อนหยิบอะไรเข้าปาก ออกกำลังกายและกินอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายจะได้จัดการกับเชื้อโรคได้ดีขึ้นครับ
หัวหอมกินเยอะๆอันตรายไหม?
ผลข้างเคียงจากการกินหัวหอมมีน้อยมากครับ แต่ถึงอย่างไรเราก็ต้องกินให้พอดีกับความต้องการ เพราะหัวหอมเป็นผักอีกชนิดหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการแพ้ได้ ถ้ากินมากเกินไป
อีกอย่าง ถึงแม้ว่าหัวหอมจะมีประโยชน์ เราก็ไม่ควรที่จะเน้นกินแค่หัวหอมอย่างเดียว เพราะความสมดุลของสารอาหารจากแหล่งอาหารอื่น คือ ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้เราสุขภาพดี
คำแนะนำจากโค้ชเค (My Two Cents)
ผมอยากทิ้งท้ายด้วยวิธีแก้ปัญหาระดับชาติ นั่นคือ “หั่นหัวหอมยังไงไม่ให้มีน้ำตา”
- ใช้มีดที่คมที่สุดในการหั่น เพราะเอนไซม์ในหัวหอม (ตัวการที่ทำให้เราเสียน้ำตา) จะไม่ได้ถูกปล่อยออกมาเยอะเกินไป
- แช่หัวหอมในช่องแช่แข็ง (Freezer) ประมาณ 10-15 (ตู้เย็นปกติ = 20-25 นาที) ก่อนนำออกมาหั่น
- หั่นหัวหอมในน้ำ (วิธีนี้จะช่วยป้องกันการกระจายตัวของเอนไซม์จากหัวหอม แต่ผมไม่ค่อยแนะนำเท่าไหร่ เพราะหั่นยากมากครับ แถมถ้าไม่มีตระแกรงรอง หัวหอมกระจายไปทั่วชาม)
- ถ้าไม่อยากทำตามวิธีด้านบน ระหว่างหั่นหัวหอม ให้หายใจเข้าออกทางปาก และอย่าลืมแลบลิ้นออกมาเพื่อดักจับเอนไซม์ที่กระจายออกมาด้วยนะครับ (ชักจะไปกันใหญ่)
- ใส่หน้ากากและแว่นตาว่ายน้ำ (หรือชนิดที่ใช้ในห้องทดลอง) วิธีนี้ได้ผล 100% ครับ แต่อาจจะมองเห็นหัวหอมไม่ชัดเท่าไหร่
ใครมีวิธีหั่นหัวหอมเพิ่มเติม อย่าลืมมาแชร์ประสบการณ์ในคอมเมนท์ด้านล่างด้วยนะครับ
ถ้าชอบบทความนี้ อย่าลืมกด Share เพื่อให้เพื่อนๆได้อ่านด้วยนะครับ