โรคช้ำรั่ว สาวๆที่นั่งนานๆต้องระวัง
โรคช้ำรั่ว หรือภาวะที่ไม่สามารถกลั้นปัสสาวะได้ เกิดจากหลายสาเหตุ และหนึ่งในสาเหตุหลักคือ พฤติกรรมเนือยนิ่ง นั่นคือ เราใช้เวลานั่งนานเกินไป นั่นเอง
โรคช้ำรั่ว นั่นนานๆยิ่งเสี่ยง
ทุกวันนี้คนส่วนใหญ่จะมีพฤติกรรมเนือยนิ่ง (Sedentary Lifestyle) คือ วันหนึ่งจะใช้เวลานั่งกับนอนเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะสาวออฟฟิศ ที่ต้องนั่งปั่นงานวันละ 8-10 ชั่วโมงต่อวัน พอนอกเหนือจากเวลางาน เราก็ใช้เวลาเดินทางไปทำงาน ก็จะต้องฝ่ารถติดอีก
ผลจากงานวิจัยพลว่า การทำงานของคนไทยปัจจุบัน มีการแข่งขันสูง หลายคนปั่นงานกันแบบไม่มีเวลาพัก พอมัววุ่นแต่กับงาน ก็จะลืมกินข้าว (ร่างกายขาดสารอาหาร) ลืมดื่มน้ำ และที่หนักกว่านั้นคือ อั้นปัสสาวะนานเกินไป เหล่านี้คือ สาเหตุของโรค ‘ช้ำรั่ว’ หรือ Overactive Bladder ครับ
โรคช้ำรั่ว คืออะไร?
โรคช้ำรั่ว หรือ Overactive Bladder (OAB) คือ อาการผิดปกติหลายอย่าง แต่อาการที่พบบ่อยคือ ปัสสาวะเล็ดและปัสสาวะราด หรือไม่สามารถควบคุมอาการปวดปัสสาวะได้ และปวดปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ ทั้งตอนกลางวันและตอนนอน
โดยทั่วไป คนส่วนใหญ่จะไม่รู้ว่านี่คือโรคชนิดหนึ่ง พอไม่ใส่ใจอาการก็จะหนักขึ้นเรื่อยๆ ถึงแม้ว่าโรคนี้จะไม่ใช่โรคที่อันตรายถึงชีวิต แต่มันก็จะกวนใจ ทำให้เราสูญเสียบุคลิค อารมณ์ไม่ดี เครียด และขาดความมั่นใจได้
โดยปกติอาการอั้นปัสสาวะไม่ไหว เราจะเจอแต่ในคนที่อายุเยอะแล้วใช่ไหมครับ? (จำได้ยายผมเคยอั้นฉี่ไม่ไหว) เพราะถ้าเมื่อไหร่ที่ประจำเดือนหมด ระดับฮอร์โมนก็จะไม่ปกติ ส่งผลให้เยื่อบุในท่อปัสสาวะขาดความยืดหยุ่น ปัสสาวะจึงเล็ดออกมาได้ แต่ทุกวันนี้คนที่อายุน้อยๆในช่วง 25-40 ปี ก็เป็นโรคช้ำรั่วได้เหมือนกัน
นี่คือสิ่งที่คนไทยส่วนใหญ่เข้าใจผิดเกี่ยวกับ โรคช้ำรั่ว
- โรคช้ำรั่วมีแต่คนที่อายุเยอะเท่านั้นที่เป็น (40 ปี ขึ้นไป)
- คนที่มีกระเพาะปัสสาวะเล็กเท่านั้นที่เสี่ยงเป็นโรคนี้
- ดื่มน้ำให้น้อยลงโรคช้ำรั่วก็จะหายไป
- โรคช้ำรั่วมีแต่ผู้หญิงเท่านั้นที่เป็น
- โรคช้ำรั่วรักษาไม่หาย เราต้องอยู่กับมันตลอดไป
- การผ่าตัด คือวิธีเดียวที่จะรักษาโรคช้ำรั่ว
วิธีสังเกตอาหารของโรคช้ำรั่ว
- ควบคุมปัสสาวะไม่ได้: คือภาวะที่เราไม่สามารถควบคุมปัสสาวะไม่ให้เล็ดออกมาได้ และจะปวดปัสสาวะบ่อยผิดปกติ อย่างน้อย 8 ครั้งขึ้นไป
- ปัสสาวะเล็ด: แต่ก่อน คนแก่แถวบ้าน ปัสสาวะจะเล็ดออกมาทุกครั้งที่ไอหรือจาม แต่ถ้าเรายังอายุน้อย (25-40 ปี) แล้วมีปัสสาวะเล็ดออกมา แสดงว่าเรากำลังเป็นโรคนี้อยู่ ผลสรุปจากงานวิจัยพบว่า คนที่เป็นโรคช้ำรั่ว แค่ได้ยินเสียงก๊อกน้ำไหล ก็ควบคุมฉี่ไม่ได้แล้ว
- ปัสสาวะราด: คือภาวะที่ไม่สามารถกลั้นปัสสาวะได้เลย ทำให้ปัสสาวะไหลออกมาในปริมาณที่เยอะ
- ปัสสาวะรดที่นอน
วิธีแก้และป้องกันโรค ‘ช้ำรั่ว’
วิธีแก้และป้องกันมีหลายวิธี แต่ละคนก็จะมีวิธีที่แตกต่างกันไป แต่นี่คือวิธีที่แพทย์และผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่แนะนำ
ไปหาหมอ
(หรอ? ไม่บอกไม่รู้นะเนี่ย!) อย่าเพิ่งขำครับ แพทย์ส่วนใหญ่รายงานว่า คนที่เป็นโรคช้ำรั่วส่วนใหญ่จะอายที่จะไปพบแพทย์ แต่แพทย์คือผู้เชี่ยวชาญที่สามารถวินิฉัย และให้คำแนะนำได้ตรงจุดที่สุด ดังนั้นถ้าสังเกตอาหารแล้วสงสัยว่าตัวเองเป็นโรคช้ำรั่ว ควรพบแพทย์เพื่อตรวจดูให้แน่ใจครับ
เปลี่ยนพฤติกรรมการกิน
เราควรเลี่ยงเครื่องดื่ม (หรืออาหาร) ที่มีคาเฟอีนและแอลกอฮอล์ เพราะสารอาหาร 2 ตัวนี้จะออกฤทธิ์กระตุ้นให้เราปัสสาวะบ่อยขึ้น เครื่องดื่มชนิดอื่น เช่น น้ำอัดลม เครื่องดื่มที่ผสมสารให้ความหวานแทนน้ำตาล น้ำผลไม้ เช่น น้ำแคนเบอร์รี่ น้ำส้ม และน้ำมะเขือเทศ และอาหารลดจัด ก็ควรเลี่ยงเหมือนกัน และก่อนนอนไม่ควรดื่มน้ำเยอะเกินไป เพราะจะไปกระตุ้นให้ตื่นมาปัสสาวะภายหลัง
ดื่มน้ำเยอะขึ้น
ข้อผิดพลาดของสาวๆส่วนใหญ่คือ จะคิดว่าถ้าดื่มน้ำน้อย ก็จะไม่ปวดปัสสาวะบ่อย ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด (แบบไม่น่าให้อภัย) เพราะนี่คือสาเหตุที่ร่างกายขาดน้ำ ปัสสาวะที่ข้นจะส่งผลเสียให้กับผนังกระเพาะปัสสาวะด้วย ซึ่งยิ่งจะทำให้อาการจากโรคช้ำรั่วหนักขึ้นกว่าเดิม เพราะฉะนั้นดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอต่อวัน ใช้ความกระหายเป็นที่ตั้งครับ
ลดน้ำหนัก
ถ้าเราน้ำหนักเกินและมีไขมันในร่างกายเยอะเกินไป ความเสี่ยงที่จะเป็นโรคช้ำรั่วก็จะสูงขึ้นด้วย แต่ถ้าน้ำหนักเราน้อยลง กล้ามเนื้อและอวัยวะภายในก็ไม่ถูกแรงกดทับและแรงกระแทกน้อยลง โดยเฉพาะกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน
งดบุหรี่
บุหรี่คือต้นเหตุของโรคมะเร็งและปัญหาสุขภาพอื่นๆ ดังนั้นการงดบุหรี่ คือหนึ่งในวิธีแก้โรคช้ำรั่ว
ยืนบ่อยขึ้น
ถ้าจะให้ยืนทำงานทั้งวันก็คงจะหนักไป ผมจึงอยากจะแนะนำให้คนที่ต้องนั่งทำงานเป็นเวลานานๆทุกวันนำเทคนิคนี้ไปใช้ครับ ทุกๆ 30 นาที หรือ 1 ชั่วโมงให้ตั้งนาฬิกาเตือนให้เรายืนขึ้นและเดินไปทำธุระหรือกิจกรรมอย่างอื่น เช่น เดินไปดื่มน้ำ ไปคุยกับเพื่อนร่วมงาน หรือเดินไปหยิบงานที่ปริ้นท์ออกมา เป็นต้น
ออกกำลังกาย โดยเน้นที่กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน
กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานที่แข็งแรง จะช่วยให้เราควบคุมปัสสาวะได้ดีขึ้น การออกกำลังกายที่เน้นการบริหารกล้ามเนื้อส่วนนี้จะช่วยให้กล้ามเนื้อแข็งแรง แต่อย่าลืมนะครับ ก่อนที่จะออกกำลังกายท่านี้ เราต้องเข้าห้องน้ำไปปัสสาวะก่อน เพื่อให้กระเพาะปัสสาวะโล่ง ผมเอาวีดีโอท่าออกกำลังกายง่ายๆที่เน้นบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานมาฝาก
ฝึกอั้นปัสสาวะ
“อ้าว! ไหนบอกเป็นช้ำรั่วเพราะอั้นฉี่?” อย่าเพิ่งงงครับ เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ที่เราปวดปัสสาวะเพราะว่ากระเพาะปัสสาวะมีน้ำเยอะ กระเพราะปัสสาวะจึงมีการบีบตัว เพื่อกระตุ้นให้เราไปเข้าห้องน้ำ
ปัญหาของคนเป็นโรคช้ำรั่วคือ กระเพาะปัสสาวะบีบตัวเร็วเกินไป แม้ว่าระดับปัสสาวะในกระเพาะปัสสาวะจะไม่เยอะก็ตาม ส่งผลให้เราต้องเข้าห้องน้ำบ่อยขึ้น เพราะฉะนั้นการฝึกอั้นฉี่เป็นเวลา 2-3 นาที จึงเป็นการฝึกสมาธิและเปลี่ยนพฤติกรรมของเจ้ากระเพาะปัสสาวะด้วย (แต่อย่านานกว่านี้นะครับ)
เวลาปัสสาวะในห้องน้ำ ควรนั่งลงให้เรียบร้อย และเอนตัวไปข้างหน้า พอปัสสาวะเสร็จแล้ว ให้นั่งต่ออีกประมาณ 30 วินาที แล้วโน้มตัวไปข้างหน้าไกลกว่าเดิม เพื่อบีบปัสสาวะออกให้หมด
อาหารและเครื่องดื่มที่ควรเลี่ยง
- มะเขือเทศ
- น้ำตา และน้ำผึ้ง
- อาหารรสจัด
- น้ำอัดลม
- ผลิตภัณฑ์นม
- น้ำผลไม้แครนเบอร์รี่
- น้ำหวานจากข้าวโพด (Corn Syrup)
- น้ำผลไม้ โดยเฉพาะน้ำส้ม
- ช็อกโกแลต
- เครื่องดื่มและอาหารที่มีคาเฟอีน
- สารให้ความหวานแทนน้ำตาล
- แอลกอฮอล์