ไคโตซาน (Chitosan) ดีจริงหรือแค่ขายฝัน?
ไคโตซาน คือส่วนผสมในอาหารเสริมลดความอ้วน คนที่ฝัน อยากลดน้ำหนักให้เร็วขึ้น จะซื้อมากินกัน เพราะหลายคนยังเชื่อว่าเมื่อกินเข้าไปแล้วจะช่วยให้น้ำหนักลดลง ดักจับไขมันได้ และเผาผลาญไขมันส่วนเกิน ผู้ผลิตหัวใสก็เลยกระหน่ำโฆษณาชวนเชื่อเพื่อขายสินค้า และมีนักกำหนดอาหาร ผู้เชี่ยวชาญมารับรองด้วยนะ แต่ไคโตซาน ดีจริงหรือเปล่า? ปลอดภัยไหม? มีงานวิจัยที่น่าเชื่อถือรองรับหรือเปล่า?
ไคโตซาน (Chitosan)
ช่วงหลังๆผมเห็นผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนักส่วนใหญ่ ต่างมีส่วนผสมของไคโตซานทั้งนั้น และบางทีก็รู้สึกตะหงิดว่า มันก็น่าจะช่วยลดน้ำหนักได้ ไม่งั้นเขาจะเอามาเป็นส่วนผสมหลักทำไม แต่งานวิจัยที่น่าเชื่อถือแทบจะไม่มีเลย (นักวิชาการที่เขาจ้างมารับรองสินค้า ไม่เกี่ยวนะครับ)
มีหนังสือเล่มหนึ่งที่ชื่อว่า “The Fat Blocker Diet” ที่เขียนขึ้นเมื่อปี 1997 หนังสือเล่มนี้ได้โปรโมทคุณสมบัติของไคโตซาน ในเรื่องของการลดน้ำหนักและเบิร์นไขมันส่วนเกิน หลังจากนั้นหนังสือเล่มนี้เป็นที่นิยมมากในกลุ่มคนลดน้ำหนัก ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนักที่มีส่วนผสมของไคโตซาน เยอะขึ้นเรื่อยๆ ที่จริง ไคโตซาน ก็คืออาหารเสริมที่ผลิตจาก สารไคติน (Chitin) ที่พบใน เปลือกกุ้ง และปู คนส่วนใหญ่จึงคิดว่า “ถ้าเป็นสารสกัดจากธรรมชาติ มันก็ต้องดีและไม่อันตรายสิ”
อีกทั้งงานวิจัย 14 ชิ้น ที่ทำการทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม (Randomized Controlled Trial) กับคนที่น้ำหนักเกินจำนวน 1,131 คน พบว่า กลุ่มที่ได้รับสารไคโตซาน สามารถลดน้ำหนักได้มากกว่ากลุ่มที่กินยาหลอก (Placebo) ประมาณ 2 กิโลกรัม ระดับคอเลสเตอรอลและความดันโลหิตก็ลดลงมากกว่าด้วย นักวิจัยไม่พบผลข้างเคียงใดๆ จากการกินไคโตซาน (ทุกอย่างดีไปหมด)
แต่ก็มีนักวิชาการที่น่าเชื่อถือหลายท่าน เช่น Dr. Cliona Ni Mhurchu จากมหาวิทยาลัย Auckland University, New Zealand แย้งว่า รายงานผลการทดลองและวิธีทดลอง ไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากล และผู้ผลิตควรนำเสนอรายงานผลการทดลองที่ชัดเจนมากกว่านี้
ตอนหลัง The Cochrane Collaboration ที่เป็นองค์กรกรองข้อมูลทางด้านวิชาการ (ถ้าไม่ข้อมูลไม่น่าเชื่อถือ เขาจะไม่ยอมรับเด็ดขาด) พบว่า ในผลงานวิจัยเกี่ยวกับผลลัพท์ของไคโตซาน อายุของผู้เข้าร่วมทดลองจะอยู่ที่ 44 ปี งานวิจัย 11 ชิ้น ผู้เข้าร่วมมีทั้งหญิงและชาย และงานวิจัยอีก 3 ชิ้นมีแต่ผู้หญิง งานวิจัยมีทั้งหมด 3 ระยะเวลา ระยะสั้นใช้เวลาแค่ 4 สัปดาห์ (1 เดือน) ระยะปานกลาง ใช้เวลาน้อยกว่า 6 เดือน และระยะยาว ใช้เวลามากกว่า 6 เดือน นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการทดลองโดยแบ่งผู้เข้าทดลองออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกให้กินไคโตซาน ปริมาณคือ 15 กรัม ต่อวัน และกลุ่มที่ 2 ให้กินยาหลอก ถึงแม้ว่าวิธีการทดลองดูน่าเชื่อถือ แต่นักวิชาการที่คัดกรองงานวิจัยทุกชิ้นพบว่า เงินสนับสนุนบางส่วนในการทดลองมาจากผู้ผลิตอาหารเสริมลดความอ้วนที่มีส่วนผสมของไคโตซาน (อ้าว!)
คิดตามนะครับ ถ้าบริษัทผลิตบุหรี่ สนับสนุนเงินเพื่อทำการวิจัยเกี่ยวกับมะเร็ง ตอนหลังงานวิจัยสรุปว่า “บุหรี่ทำให้เราเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งและถุงลมโปร่งพอแค่ 20%” เออ…ความน่าเชื่อถืออยู่ตรงไหน?
ส่วนหนึ่งของรายงานผลการทดลองเผยว่า คนส่วนใหญ่ไม่อยากจะกินยาลดความอ้วน แต่จะเลือกกินอาหารเสริมลดความอ้วนมากกว่า เพราะคนที่น้ำหนักเกินส่วนใหญ่เข้าใจว่า ยาลดความอ้วน มีไว้สำหรับคนที่น้ำหนักมากกว่า 100 กิโลกรัมเท่านั้น คนเราเป็นกันทุกคนครับ ถ้าเราเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ เราก็จะหลอกตัวเอง เช่น “กินๆไปเหอะแค่นี้ไม่อ้วนหรอก คนที่ออกกำลังกายไม่มีบุญได้กินเหมือนเรา” ผมเจอมาแล้ว
สรุป
ไคโตซาน เป็นส่วนผสมของอาหารเสริมที่ช่วยลดน้ำหนัก แต่งานวิจัยที่น่าเชื่อถือยังมีไม่มากพอ อีกทัั้งองค์กรในประเทศไทย ยังเข้มงวดกับยาลดความอ้วนและอาหารเสริมลดน้ำหนักน้อยมาก ทำให้ผู้บริโภคคิดว่า “ถ้ามี อ.ย. ก็ต้องปลอดภัยสิ” ส่วนตัวแล้วผมจะอุ่นใจมากกว่า ถ้ามีการทดลองอย่างจริงจังว่าสิ่งที่เรากินเข้าไปปลอดภัยจริง 100%
กินอาหารเสริมเพื่อช่วยลดน้ำหนัก ไม่ใช่สิ่งที่ผิด (ผมยังกินคาเฟอีนเม็ดเพื่อเบิร์นไขมันเลย) แต่เราก็ต้องศึกษาให้ดีก่อนที่จะซื้ออะไรมากิน เพราะบางทีมันอาจจะไม่ใช่แค่เงินที่เราเสียไป แต่มันจะเป็นสุขภาพหรือร้ายแรงกว่านั้นคือ เกิดอาการแพ้แล้วตาย
เราควรเลือกอาหารเสริมที่มีการศึกษาและงานวิจัยรองรับ หรือจากผู้ผลิตที่น่าเชื่อถือ (เพราะถ้าเกิดอะไรขึ้น อย่างน้อยเรายังฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้) และสิ่งสำคัญต่อมาคือ ห้ามลืมการควบคุมปริมาณอาหารที่กินเข้าไปต่อวัน และ ออกกำลังกายด้วยนะครับ