Fat Metabolism สำหรับผู้เริ่มต้น
ไขมัน (Fat) คือ สารอาหารที่มีส่วนประกอบหลัก (ประมาณ 90%) เป็น ไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) ในบทความที่แล้ว “ไขมันในร่างกายมีกี่ชนิด” ผมได้พูดถึงไขมันในร่างกายว่ามีกี่ชนิดและชนิดไหนที่เราต้องให้ความสำคัญที่สุด
ในบทความนี้ผมโค้ชเคจะมาอธิบายต่อว่า ที่เขาพูดว่า “เผาผลาญไขมัน” หรือ “เบิร์นเฟต” นั้น จริงๆแล้วมันคืออะไรกันแน่ (อาจจะมีศัพท์วิชาการบ้าง แต่อ่านแล้วได้ประโยชน์แน่นอนครับ)
Fat Metabolism สำหรับผู้เริ่มต้น
เพื่อให้เข้าใจ “ไขมันในร่างกาย” มากขึ้น เรามาทำความรู้จักกับคำศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับมันก่อนดีกว่าครับ
Hypergenesis
เซลล์ไขมัน (ในร่างกาย) สามารถเพิ่มจำนวนขึ้นได้ (Hyperplasia หรือ Hypergenesis) ตอนแรกเซลล์ไขมันจะขยายตัวก่อนเพื่อรองรับพลังงานแคลอรี่ที่เพิ่มขึ้น
แต่ถ้าเรากินเยอะขึ้นเรื่อยๆ ร่างกายจะสร้างเซลล์ไขมันขึ้นมาใหม่เพื่อมากักตุนพลังงานที่เพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่คนอ้วน/น้ำหนักเกิน จะมีอัตราการสร้างเซลล์ไขมันมันใหม่ที่สูงกกว่าคนปกติ
Apoptosis
Apoptosis หรือ การตายของเซลล์ไขมัน จะเกิดขึ้นน้อยมาก เพราะเซลล์ไขมันมันดื้อด้าน (Stubborn) ดังนั้นในบทความนี้ ผมจะเน้นไปที่ Lipogenesis หรือ การสร้างเซลล์ไขมัน และ Lipolysis หรือ การเผาผลาญไขมัน ครับ
Lipogenesis
อย่างที่ผมเกริ่นไป 90% ของเซลล์ไขมัน คือ ไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) ซึ่งไตรกลีเซอร์ไรด์ก็เกิดจาก โมเลกุลของ กลีเซอรอล (Glycerol) หรือ คาร์โบไฮเดรท (จากอาหาร) 1 โมเลกุล ไปรวมตัวกับ กรดไขมันอิสระ (Free Fatty Acid) อีก 3 โมเลกุล Voila! เราก็ได้เซลล์ไขมันเพิ่มขึ้นแล้ว
เซลล์ไขมันมีความสามารถพิเศษอีกอย่างหนึ่งคือ มันสามารถย้ายไปอยู่อีกจุดหนึ่งได้ เช่น ผู้หญิงที่ออกกำลังกาย โดยทั่วไปจะเผาผลาญไขมันจากช่วงบน (Upper Body) ก่อน แต่ช่วงล่าง (ขาและสะโพก) ยังมีไขมันปกคลุมอยู่เยอะ เพราะร่างกายเราจะพยายามเก็บไขมันไว้ให้ได้มากที่สุด มันก็เลยย้ายไปเก็บไว้ในที่ๆเผาผลาญยากที่สุดไงหละครับ
Lipolysis
รู้ไหมครับว่า ที่เราออกกำลังกายและควบคุมอาหารยังกะจะไปแข่งโอลิมปิก เป้าหมายเดียวก็เพื่อให้เกิด Lipolysis หรือ การเผาผลาญไขมัน นี่แหละครับ
หลักการง่ายๆที่ผมอยากฝากไว้คือ ร่างกายเราสะสมไขมันและเผาผลาญไขมันอยู่ตลอดเวลา ถ้าเรากินอาหารเยอะเกินไป ร่างกายก็จะสร้างไขมันมากกว่าที่เผาผลาญออก แต่ถ้าเราออกกำลังกายและควบคุมอาหารได้ ร่างกายก็จะเผาผลาญไขมันมากกว่าที่ได้รับจากอาหาร
จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อเรากิน “ไขมัน” เข้าไป?
ถึงตอนนี้ ผมเชื่อว่าทุกคนคงรู้แล้วว่า เซลล์ไขมันเกิดจากการรวมตัวของ กลีเซอรอล (Glycerol) และ กรดไขมันอิสระ (Free Fatty Acid) แล้วถ้าเกิดใน 1 วัน เรากินแค่ไขมันเข้าไป เช่น หมูสามชั้น น้ำมันมะพร้าว และน้ำมันมะกอก ร่างกายยังจะไปสะสมเป็นไขมันอยู่หรือเปล่า? (เพราะไม่มี ไกลเซอรอล ที่เป็นคาร์โบไฮเดรตแล้ว)
เมื่อร่างกายได้รับไขมันจากอาหาร ไขมันเหล่านี้จะรวมตัวเป็นลิพิดที่มีชื่อว่า ไคโลไมครอน (Chylomicron) หลังจากนั้น ไคโลไมครอน จะถูกดูดซึมเข้าสู่ระบบน้ำเหลือง (Lymphatic System) แน่นอนว่าไขมันที่ได้จากอาหารบางส่วนจะถูกส่งไปยังตับเพื่อที่จะใช้เป็นพลังงานของเนื้อเยื่อต่างๆ แต่ก็จะมีบางส่วนที่จะถูกเก็บไว้ในรูปแบบไขมัน เพื่อเป็นพลังงานสำรอง (สำรองจนพุงย้วยเลย)
ผู้หญิงเป็นเพศที่มีความพิเศษตรงที่ พอกินอาหารที่มีไขมันสูงเข้าไปแล้ว ไขมันจากอาหารนี้จะถูกนำไปเก็บไว้เป็น ไขมันใต้ผิวหนัง (Subcutaneous Fat) เช่น ที่แขน ขา สะโพก และอาจจะลามมาตรงพุงด้วย
งานวิจัยพบว่า พอผู้หญิงกินอะไรเข้าไปปุ๊บ ร่างกายจะเร่งการสูบฉีดเลือดไปยังร่างกายช่วงล่าง (ต่ำกว่าสะโพกลงไป) นั่นหมายความว่า ถ้าเรากินอะไรเข้าไป ทั้งไขมันและคาร์โบไฮเดรทจะพุ่งตรงไปที่ขาไงหละครับ (รู้ยังผู้หญิงทำไมถึงขาใหญ่?)
(แต่!) ข้อดีคือ ถึงผู้หญิงจะกินเยอะจนมีไขมันใต้ผิวหนังเพิ่มขึ้น แต่ก็ไม่เสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจเท่ากับผู้ชาย เพราะไขมันใต้ผิวหนังไม่ได้เป็นอันตรายเท่ากับ ไขมันในช่องท้อง (Visceral Fat)
แต่ปัญหามันจะอยู่ตอนที่เราจะออกกำลังกายเพื่อเผาผลาญมันออกไปนี่แหละครับ ดังนั้นโค้ชดังๆถึงออกมาพูดเสมอว่า นักกีฬาหญิงคือเพศที่โครตจะมีวินัย
กลีเซอรอล (Glycerol) คืออะไรหรอ?
จำได้ไหมครับที่ผมบอกว่า ไกลเซอรอล คือคาร์โบไฮเดรตชนิดหนึ่ง ทีนี้หลายคนอาจจะสงสัยว่า แล้วถ้าเราไม่กินคาร์โบไฮเดรตเลย เช่น งดข้าว ขนมปัง และน้ำตาล เซลล์ไขมันจะไปเอากลีเซอรอลมาจากไหน?
ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจก่อนว่า ร่างกายเราจะเปลี่ยนอาหารที่เรากินเป็นพลังงานในรูปแบบของ น้ำตาลกลูโคส (Glucose) ก็เจ้าน้ำตาลกลูโคสนี่แหละครับ ที่ร่างกายจะเปลี่ยนไปเป็น ไกลเซอรอล เพื่อไปรวมกับ กรดไขมันอิสระ อีกที
และถึงแม้ว่าเราจะกินแต่ไขมันอย่างเดียว ร่างกายเราก็ฉลาดพอที่จะผลิตเอนไซม์เพื่อมาเก็บพลังงานที่เกินไว้ในรูปแบบไขมัน (เดี๋ยวผมจะพูดถึงจุดนี้ในบทความต่อไป)
สรุปคือ ไม่ว่าเราจะลดน้ำหนักแบบพร่องแป้งหรือไม่ก็ตาม ถ้าเรากินอาหารเยอะไป ร่างกายก็จะสร้างเซลล์ไขมันไปเรื่อยๆครับ
ในบทความนี้ ผมขอจบไว้แค่นี้ก่อน ในบทความต่อไป ผมจะพูดถึงเอนไซม์ Lipoprotein Lipase และ Acylation Stimulating Protein เพราะเอนไซม์ 2 ตัวนี้ คือปัจจัยสำคัญต่อการบวนการสะสมไขมันของร่างกาย อย่าลืมติดตามอ่านกันนะครับ
ถ้าคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์ต่อคุณ รบกวนฝากกดปุ่ม Share ด้านล่างด้วยนะครับ ขอบคุณครับ