ระหว่าง Stevia กับ Splenda อะไรดีกว่ากัน?
คนส่วนใหญ่พอเริ่มมากินคลีนหรือทำอาหารคลีนกินเอง ก็จะมองหาสารให้ความหวานแทนน้ำตาล มาเป็นส่วนผสในอาหารและเครื่องดื่มเพื่อช่วยเพิ่มรสชาติ เพราะถ้าสูตรที่ไม่มีความหวานเลย รสชาติอาจจะแย่เกินจะทนครับ
เมนูอาหารสูตรจากเมืองนอก ก็มักจะแนะนำให้ใช้ Stevia หรือ Splenda หลายคนจึงสงสัยว่า เจ้าน้ำตาลเทียม 2 ตัวนี้ เหมือนหรือต่างกันอย่างไรบ้าง
วันนี้ โค้ชเค มีคำตอบเช่นเคยครับ
Stevia vs. Splenda ต่างกันอย่างไรบ้าง?
Stevia และ Splenda เป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาล (Artificial Sweeteners) ที่คนรักสุขภาพส่วนใหญ่ใช้แทนน้ำตาล เพราะให้รสชาติที่หวานโดยไม่มีแคลอรี่มาเพิ่ม ข้อดีคือน้ำตาลในเลือดไม่พุ่งสูงขึ้น และร่างกายไม่สะสมไขมันเพิ่มขึ้นนั่นเองครับ
เมื่อคนหันมารักและดูแลสุขภาพกันมากขึ้น ผลิตภัณฑ์น้ำตาลเทียม 2 ชนิดนี้จึงมีเยอะขึ้น ร้านอาหารและเครื่องดื่มส่วนใหญ่ ก็เริ่มใส่สารให้ความหวานแทนน้ำตาลแทนน้ำตาลจริงกันแล้ว
ดังนั้น เราจึงต้องรู้ครับว่าสารอาหารให้ความแทนน้ำตาล 2 ชนิดนี้ ต่างกันยังไง ใช้ในเมนูไหนได้บ้าง อะไรดีต่อสุขภาพมากกว่า และที่สำคัญไปหาซื้อได้ที่ไหน?
Splenda คืออะไร?
Splenda คือ สารอาหารให้ความแทนน้ำตาลที่ใช้กันมาตั้งแต่ปี 1998 และเป็นน้ำตาลเทียมมี Sucralose เป็นส่วนประกอบหลัก เหตุผลที่คนส่วนใหญ่ชอบ Splenda เพราะมีรสชาติใกล้เคียงกับน้ำตาล และไม่มีรสขมติดลิ้นครับ
ซูคราโลส (Sucralose) คือ วัตถุเจือปนอาหารชนิดหนึ่งที่มีวัตถุดิบตั้งต้นเป็น น้ำตาลซูโครส (Sucrose) ซึ่งให้ความหวานแทนน้ำตาลโดยไม่มีแคลอรี่
ก่อนที่จะมาเป็นซูคราโลส ผู้ผลิตจะนำคาร์โบไฮเดรตที่มีชื่อว่า มอลโทเดกซ์ทริน (Maltodextrin) มาผสมกับซูคราโลสครับ
ผมว่าเราจำไว้แค่ Splenda คือ สารอาหารให้ความแทนน้ำตาลที่ไม่มีแคลอรี่แล้วกันนะครับ
ต่อมาคนก็เริ่มมองหาอะไรที่เป็นธรรมชาติมากขึ้น จึงเริ่มหันมาใช้ Stevia แทนน้ำตาลด้วย ซึ่ง Stevia คือ สารให้ความหวานแทนน้ำตาลที่ได้จากธรรมชาติ เพราะผลิตมาจากใบของต้น Stevia และไม่มีแคลอรี่ด้วย
Stevia และ Splenda มีสารอาหารที่แตกต่างกันอย่างไรบ้าง?
สิ่งแรกที่เราต้องรู้ คือ Stevia จะไม่มีแคลอรี่เลยครับ ในขณะที่ Splenda อาจจะมีแคลอรี่นิดหน่อย แต่ที่ Splenda ได้อยู่ในกลุ่มสารให้ความหวานแทนน้ำตาลที่ “Calorie-free” เพราะให้พลังงานแคลอรี่ไม่เกิน 5 แคลอรี่ต่อ 1 เสิร์ฟนั่นเองครับ
Stevia 1 เสิร์ฟ ถ้าเป็นแบบน้ำ (ของเหลว) จะอยู่ที่ 5 หยด หรือ 0.2 มิลลิลิตร หรือถ้าเป็นแบบผง 1 เสิร์ฟจะเท่ากับ 1 ช้อนชา หรือ 0.5 กรัม
Splenda ส่วนใหญ่จะมาเป็นซองละ 1 กรัม ส่วนแบบน้ำ 1 เสิร์ฟ คือ 0.25 มิลลิลิตรครับ
เอาเข้าจริงๆ เมื่อเปรียบเทียบปริมาณสารอาหาร เช่น คาร์บ ไขมัน โปรตีน วิตามิน และแร่ธาตุ
สารให้ความหวานทั้ง 2 ชนิด ไม่มีอะไรต่างกันมากมายเลยครับ เช่น Splenda 1 ช้อนชา ให้พลังงาน 2 แคลอรี่ คาร์บ 0.5 กรัม และโพแทสเซียม 0.02 มิลลิกรัม
ถ้าจะเอาสารอาหารเป็นที่ตั้ง ผมว่าเราคงเลือกแบบไหนก็ไม่ต่างกันเลยครับ
ถ้าจะให้จำง่ายๆ Stevia และ Splenda แตกต่างกันอย่างไรบ้าง?
ถ้าจะให้จำง่ายๆ ผมว่าเรามาดูเรื่องรสชาติและการใช้ดีกว่าครับ
Splenda มีแคลอรี่ แต่มีรสชาติใกล้เคียงกับน้ำตาล และหวานกว่า Stevia
ถ้าวัดกันเป็นตัวเลข Stevia จะหวานกว่าน้ำตาลปรกติประมาณ 200 เท่า รสชาติที่หวานๆนี้มาสารที่ได้จากธรรมชาติที่มีชื่อว่า “Steviol Glycosides”
ส่วน Splenda ไปไกลกว่านั้นครับ เพราะหวานกว่าน้ำตาลถึง 450-650 เท่า! เพราะฉะนั้นเวลาใช้ Splenda ในเมนูต่างๆ เราไม่จำเป็นต้องใส่เยอะ เพราะให้ความหวานที่สูงอยู่แล้ว
ปัญหาใหญ่ที่ต้องระวัง คือ การใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาลบ่อยๆ อาจจะเป็นการกระตุ้นสมองให้อยากกินน้ำตาลจริงๆมากขึ้น
หมั่นสังเกตอารมณ์ของเราให้ดี และควรใช้สารให้ความหวานในปริมาณที่เท่ากัน ไม่แนะนำให้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะอาจจะติดได้ครับ
จุดเด่นในการใช้ไม่เหมือนกัน
ถ้าเราสังเกตดีๆ Stevia จะอยู่ในรูปแบบของเหลว เมนูส่วนใหญ่ที่ใส่ Stevia จึงมักจะเป็นเครื่องดื่ม ของหวาน ซอส น้ำซุป และน้ำราดสลัด เป็นต้น ส่วนใบ Stevia ที่อบแห้ง เราสามารถเอามาต้มเพื่อเพิ่มความหวาน หรือลวกพร้อมกันกับชาก็ได้
ถ้าเป็น Stevia แบบผง (Powder) เราก็สามารถใช้แทนน้ำตาลในเมนูต่างๆได้เลย เช่น อาจจะใช้ในเมนูอบที่ใช้ความร้อนไม่เกิน 200 องศาเซลเซียส
สิ่งสำคัญที่ต้องจำไว้ คือ เราต้องปรับปริมาณ Stevia ให้เท่ากับ ½ ของปริมาณน้ำตาล ถ้าสูตร (Recipe) บอกว่าให้ใช้น้ำตาล 50 กรัม เราก็ควรใส่ Stevia แค่ 25 กรัม ครับ
ส่วน Splenda งานวิจัยพบว่า ถ้าเราจะอบอุณภูมิที่ใช้ควรอยู่ที่ประมาณ 120 องศาสเซลเซียส และ Splenda จะช่วยเพิ่มรสชาติให้กับเครื่องดื่มได้ดีกว่า Stevia ครับ
สิ่งที่ต้องระวังถ้าเราใช้ Splenda ในเมนูอบ คือ Splenda จะสุกหรือใช้เวลาอบสั้นกว่า และขนาดของอาหารที่อบ จะไม่ฟูหรือดูใหญ่เท่ากับการใช้น้ำตาลทรายขาว
ในเมนูอบทั่วไป แนะนำให้ใช้ Splenda แทนน้ำตาลแค่ 25% เท่านั้น เพื่อให้เมนูอบยังคงรูปได้ดีเหมือนปรกติ อีกอย่าง Splenda อาจจะไม่ได้ละลายได้ดีเหมือนน้ำตาล เราอาจจะยังรู้สึกได้ว่ามันยังไม่ได้เข้าเนื้อครับ
Stevia vs. Splenda อะไรดีต่อสุขภาพมากกว่ากัน?
ถ้าในเรื่องของแคลอรี่และสารอาหาร เราคงเห็นแล้วนะครับว่า สารให้ความหวานแทนน้ำตาลทั้ง 2 ชนิด แทบไม่มีอะไรต่างกันเลย ดังนั้น เราต้องมาดูว่า ในระยะยาว ระหว่าง Stevia และ Splenda อันไหนดีต่อสุขภาพมากกว่า
อย่างแรกเลย สารให้ความหวานแทนน้ำตาลทั้ง 2 ชนิด อาจจะทำให้เราติด ใช้ในปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ และที่น่าเป็นห่วงกว่านั้น คือ มันเป็นการกระตุ้นให้สมองเราอยากกินน้ำตาลจริงๆ เช่น น้ำตาลที่อยู่ในชาไข่มุก โดนัท และอาหารฟาสต์ฟู้ด เป็นต้น
อีกอย่าง สารให้ความหวานทั้ง 2 ชนิด อาจจะเข้าไปทำลาย แบคทีเรียดี (Probiotics) ในกระเพาะอาหาร ซึ่งทุกวันนี้ก็ถูกทำลายด้วยอาหารที่ไม่ดีอยู่แล้ว
ถ้าแบคทีเรียดีในกระเพาะน้อยลง กระบวนการย่อยอาหารจะไม่ดี และความเสี่ยงโรคเรื้อรัง เช่น โรคมะเร็งลำไส้ อาจจะสูงขึ้นครับ อันนี้ต้องระวัง
มีงานวิจัยหลายชิ้นที่พบว่า Splenda เข้าไปลดปริมาณแบคทีเรียดีลง แต่แบคทีเรียที่ไม่ดีกลับอยู่ครบเหมือนเดิม (1)
ประเด็นที่สอง คือ มีงานวิจัยพบว่า ซูคราโลส (Sucralose) มีส่วนทำให้น้ำตาลในเลือดพุ่งสูงขึ้นในกลุ่มคนที่ไม่เคยใช้ Splenda มาก่อน ซึ่งอาจจะไม่เหมาะกับคนที่เสี่ยงเป็นเบาหวาน หรือคนออกกำลังกายที่ต้องการควบคุมอาหารเพื่อลดไขมันอยู่ครับ
สำหรับซูคราโรสยังมีการถกเถียงกันอยู่หลายเรื่องเหมือนกันครับว่า ตกลงมันปลอดภัยจริงหรือเปล่าในระยะยาว เพราะการศึกษาในสัตว์เขาพบว่า มันอาจจะเป็นตัวการทำให้เกิดสารก่อมะเร็งที่มีชื่อว่า “Chloropropanols” ได้
มาดู Stevia กันต่อเลยครับ สำหรับ Stevia ยังไม่มีหลักฐานอะไรที่บ่งชี้่ว่ามันเป็นอันตรายต่อสุขภาพ หรือทำให้เกิดโรคเรื้อรังต่างๆ
แต่ถ้าเป็นแบบใบหรือแบบดิบ (Crude) ที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการชำละล้าง (Purification) จะยังไม่มีการศึกษาที่ชัดเจนครับ แนะนำให้ใช้แบบที่เป็นของเหลวหรือผง ที่ผ่านการรับรองจากองค์การอาหารและยาดีกว่า
สรุปสั้นๆ คือ ไม่ว่าจะเป็นสารให้ความหวานชนิดไหน (นอกเหนือจาก 2 ชนิดนี้ด้วย) เราควรจำกัดปริมาณและใช้แต่พอดี ให้เหมาะกับความต้องการของเราต่อวันครับ
คำแนะนำจากโค้ชเค (My Two Cents)
Splenda และ Stevia คือ สารให้ความหวานแทนน้ำตาล 2 ชนิด ที่นิยมมากที่สุดในกลุ่มคนรักสุขภาพ เพราะสามารถให้ความหวานแทนน้ำตาลได้จริง และไม่มีแคลอรี่เลย
สารให้ความหวานแทนน้ำตาล 2 ชนิด ยังถือว่ามีความปลอดภัย แต่การศึกษาในระยะยาวก็ยังไม่ชัดเจน เราอาจจะต้องหมั่นศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมเรื่อยๆ
แหล่งซื้อตอนนี้หาได้ไม่ยากแล้วนะครับ ตามห้างสรรพสินค้าและร้านอาหารสุขภาพทั่วไปจะมีวางขาย เดินไปที่โซนน้ำตาลแล้วเลือกยี่ห้อที่ถูกใจได้เลยครับ
ก่อนที่จะเลือกซื้อยี่ห้อไหนก็ตาม เราควรดูว่าแบบไหนถูกปากเราที่สุด สิ่งสำคัญต่อมา คือ อย่าลืมใช้ในปริมาณที่เหมาะสม ไม่ควรใช้ในปริมาณเยอะๆครับ
ถ้าอ่านบทความนี้แล้วสนุกและคิดว่ามีประโยชน์ อย่าลืมกด Share และอยากให้ไปกด Like ที่ Facebook Page (คลิกตรงนี้) มีอะไรดีๆแชร์เพรียบครับ
Photo: Freepik