สารให้ความหวานแทนน้ำตาล มีผลเสียต่อสุขภาพไหม?
สารให้ความหวานแทนน้ำตาล (Artificial Sweetener) คือ ทางเลือกอีกทางสำหรับ ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และคนที่อยากลดปริมาณน้ำตาลในช่วงลดน้ำหนักด้วย
คนส่วนใหญ่ติดรสหวานกันทั้งนั้นแหละครับ นี่จึงเป็นที่มาของสารเพื่อมาทดแทนน้ำตาล จริงๆแล้วสารให้ความหวานแทนน้ำตาลผลิตโดยการสกัดทางเคมี บางทีก็สกัดมาจากสมุนไพร วันนี้เรามาดูกันว่าสารนี้ช่วยเราลดน้ำหนักได้จริงหรือเปล่าและถ้ากินเข้าไปแล้วส่งผลเสียต่อสุขภาพไหม?
สารให้ความหวานแทนน้ำตาล
รายงานจากงานวิจัยหลายชิ้นพบว่า ถ้าเราบริโภคน้ำตาลจากอาหารหรือเครื่องดื่มเข้าไปในปริมาณที่เยอะเกินไป ความเสี่ยงที่จะเป็นเบาหวานก็มากขึ้น ดังนั้นสารที่ให้ความหวานที่คล้ายคลึงกับน้ำตาลจึงเป็นที่นิยมในผู้ป่วยเบาหวาน และคนที่ต้องการลดน้ำหนัก ยิ่งช่วงนี้เทรนด์รักสุขภาพมาแรง จึงทำให้ตัวเลขคนที่บริโภคสารนี้ก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัย Manitoba ประเทศแคนาดา พบว่าสารให้ความหวานแทนน้ำตาลอาจจะทำให้น้ำหนักเราเพิ่มขึ้น และความเสี่ยงที่จะเป็นโรคอ้วน โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจก็สูงขึ้นด้วย
งานวิจัยของมหาวิทยาลัย Manitoba ได้ทำการศึกษางานวิจัยกว่า 37 ชิ้น ซึ่งมีผู้เข้าร่วมทดลองถึง 4 แสนคน และเวลาที่ใช้ในการศึกษารวมกันแล้วนานถึง 10 ปี พบว่าสารให้ความหวานแทนน้ำตาลอาจจะส่งผลเสียต่อสุขภาพมากกว่าผลดี ผมขอสรุปเป็นข้อๆตามนี้ครับ
- ระบบเผาผลาญพลังงาน (Metabolism) ทำงานผิดปกติ ทำให้ร่างกายเผาผลาญพลังงานได้ไม่เต็มที่และสะสมไขมันส่วนเกินเพิ่มขึ้น
- แบคทีเรียในลำไส้ (Gut Bacteria) มีจำนวนน้อยลง ทำให้ระบบย่อยอาหารผิดปกติ
- ความอยากอาหารผิดปกติ ทำให้เราอยากกินอาหารเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ เช่น ขนมหวาน และของทอด เป็นต้น
ปัจจัยทั้งหมดที่ผมเพิ่งบอกไป คือต้นเหตุหลักของโรคเบาหวานและโรคอ้วนนั่นเองครับ
สารให้ความหวานแทนน้ำตาลทำให้อ้วนได้เหมือนกัน
รายงานจากงานวิจัยพบว่า สารให้ความหวานแทนน้ำตาลไม่ได้มีส่วนช่วยให้น้ำหนักตัวของผู้เข้าทดลองลดลงเลย แต่ค่าดัชนีมวลกาย (Body Mass Index) และขนาดรอบเอวกลับเพิ่มขึ้น
ดังนั้นเราควรจำกัดปริมาณสารให้ความหวานแทนน้ำตาลที่เรากินต่อวันให้เหมือนกับน้ำตาลจริงจะดีกว่า เพราะตอนนี้งานวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับสารนี้ยังมีไม่เพียงพอ โดยเฉพาะคุณแม่หลังคลอดที่ต้องให้นมลูกด้วย ควรเลี่ยงสารให้ความหวานแทนน้ำตาลไปก่อน เพราะสารนี้อาจจะผ่านไปหาลูกทางน้ำนม และมีผลต่อสุขภาพได้
ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าเราควรหันมาบริโภคน้ำตาลที่ได้จากธรรมชาติ โดยเฉพาะจากผลไม้ เช่น ซีเรียลอาหารเช้าให้หั่นกล้วยหรือเบอร์รี่ลงไป เพื่อเพิ่มความหวานจากธรรมชาติ เป็นต้นครับ
แล้วหญ้าหวาน สตีเวีย (Stevia Extracts) หละ?
สตีเวีย (Stevia Rebaudiana) เป็นพืชชนิดหนึ่งที่พบในแถบทวีปอเมริกาใต้ มีรสชาติที่หวาานมาก เมื่อเปรียบเทียบกับน้ำตาล สตีเวียให้ความหวานมากกว่าถึง 400 เท่า คนจึงนิยมนำใช้แทนน้ำตาล
นักวิจัยจากประเทศอังกฤษและเบลเยี่ยม พบว่าสตีเวียสามารถเข้าไปช่วยกระตุ้นให้โปรตีนที่มีชื่อว่า “TRPM5” ทำงานได้ดีขึ้น ซึ่งโปรตีนชนิดนี้สามารถกระตุ้นให้เบต้าเซลล์ (Beta Cells) ในตับอ่อนให้หลั่งสารอินซูลินในปริมาณที่พอดี ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ในระดับปกติ และร่างกายตอบสนองต่ออินซูลินดีขึ้น
พอร่างกายเราตอบสนองต่ออินซูลินดีขึ้น (Insulin Sensitivity) พลังงานที่ได้จากอาหารที่เรากินเข้าไปจะถูกส่งไปยังเซลล์หรือเผาผลาญจนเกือบหมด ไม่เหลือให้ตับเก็บไว้เป็นพลังงานส่วนเกินในรูปแบบไขมันไงหละครับ จะดีแค่ไหนถ้าเรากินเยอะแต่ไม่อ้วน?
ยังไงก็แล้วแต่นักวิชาการยังเห็นตรงกันว่า เราควรควบคุมปริมาณสารให้ความหวานแทนน้ำตาลต่อวันให้เหมือนกับน้ำตาลจริงๆ เพราะงานวิจัยที่ศึกษายังไม่เพียงพอที่จะสรุปได้ว่าสารเหล่านี้ไม่มีผลข้างเคียงต่อสุขภาพและน้ำหนักตัวครับ