ไฮโปไทรอยด์ (Hypothyroidism) กับการลดน้ำหนัก
ไฮโปไทรอยด์ (Hypothyroidism) หรือฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ คือ ภาวะที่ ต่อมไทรอยด์ (Thyroid Gland) หลั่งฮอร์โมนไทรอยด์ออกมาน้อยเกินไป ส่งผลให้ระบบเผาผลาญพลังงานทำงานช้าลง เหนื่อยง่าย ตัวบวมน้ำ และน้ำหนักขึ้น เป็นต้น
วันนี้ผมโค้ชเคจะพาทุกคนมาดูอาการเบื้องต้นของไฮโปไทรอยด์ และจะทิ้งท้ายด้วยคำแนะนำที่มีประโยชน์เช่นเคยครับ
ไฮโปไทรอยด์ (Hypothyroidism) กับการลดน้ำหนัก
รู้ไหมครับว่า ผู้หญิงจะเสี่ยงที่จะมีปัญหาเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์มากกว่าผู้ชายถึง 8 เท่า และยิ่งผู้หญิงอายุมากขึ้นเท่าไหร่ ความเสี่ยงก็ยิ่งมากขึ้นเรื่อยๆ
อย่างที่ผมเกริ่นไปว่า ต่อมไทยรอยด์มีความสำคัญต่อการเผาผลาญพลังงาน และพัฒนาการของร่างกาย ดังนั้น ถ้าฮอร์โมนไทรอยด์อยู่ในระดับสูงหรือต่ำเกินไป ปัญหาสุขภาพก็จะตามมา
ไฮโปไทรอยด์ (Hypothyroidism) คืออะไร?
ชื่อเรียกทับศัพท์ภาษาอังกฤษ คือ ไฮโปไทรอยด์ แต่เราอาจจะเคยได้ยินหมอหรือเพื่อนเรียกว่า “ภาวะขาดไทรอย์” “ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานต่ำ” “ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานน้อย” หรือ “ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์” ถึงแม้ว่าชื่อเรียกจะไม่เหมือนกัน แต่ความหมายไม่ต่างกันครับ
ก่อนอื่นเรามารู้จักกับ ต่อมไทรอยด์ (Thyroid Gland) กันก่อน ต่อมไทรอยด์จะมีรูปร่างคล้ายๆผีเสื้อที่อยู่เหนือ หลอดลม (Trachea) และมีหน้าที่หลัก คือ หลั่งฮอร์โมนไทรอยด์
(1) ต่อมพิทูอิตาลี (Pituitary) จะเป็นตัวควบคุมการหลั่งฮอร์โมนไทรอยด์ เมื่อร่างกายมีฮอร์โมนไทรอยด์น้อยไป ต่อมพิทูอิตาลีก็จะหลั่งฮอร์โมนที่มีชื่อว่า “Thyroid-stimulating Hormone” หรือ TSH เอาง่ายๆครับ TSH ก็เหมือนคลื่นโทรศัพท์ที่ใช้ในการสื่อสารนั่นเอง
ปัญหาของไฮโปไทรอยด์ คือ ถึงแม้ว่าต่อมพิทูอิตาลีจะหลั่ง TSH แล้ว แต่ต่อมไทรอยด์ไม่สามารถผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ได้ และถ้าปล่อยไปนานๆโดยไม่รักษา ต่อมไทรอยด์ก็จะไม่สามารถผลิตฮอร์โมนได้เลยครับ
เดี๋ยวเรามาดูอาการเบื้องต้นของไฮโปไทรอยด์ต่อกันดีกว่า
น้ำหนักขึ้น (Weight Gain)
อาการเบื้องต้นที่สังเกตได้ง่ายๆ คือ น้ำหนักจะขึ้นอย่างรวดเร็วโดยไม่ทราบสาเหตุ
ผู้หญิงที่เป็นไฮโปไทรอยด์ จะเคลื่อนไหวร่างกายน้อยและเหนื่อยง่ายกว่าปกติ แถมสมองยังสั่งการให้ตับ กล้ามเนื้อ และไขมัน รักษาพลังงานไว้ให้ได้มากที่สุดด้วย
นึกภาพตามนะครับ ปกติแค่เราหายใจ ลุก นั่ง ยืน เดิน นอน ร่างกายก็เผาผลาญพลังงานแล้ว แต่พอฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำปุ๊บ ระบบเมตาบอลิซึมก็จะช้าลง กิจกรรมที่เราเคยทำแล้วสามารถเผาผลาญแคลอรี่ได้ก็จะหมดไป แถมกินอะไรเข้าไปน้ำหนักก็จะขึ้นเอาๆด้วย
(2) งานวิจัยพบว่า กลุ่มผู้เข้าทดลองที่เป็นไฮโปไทรอยด์จะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นประมาณ 7-14 กิโลกรัม ภายในระยะเวลา 12 เดือน
ประเด็นหลัก คือ ถ้าเราออกกำลังกายเป็นประจำ และควบคุมอาหารไม่ให้เกินกว่าที่ร่างกายเผาผลาญ แต่น้ำหนักยังสูงขึ้นเรื่อยๆ ปัญหาอาจจะเกิดจากฮอร์โมนไทรอยด์ และควรเข้าพบแพทย์เพื่อรับการตรวจทันทีครับ
รู้สึกเหนื่อยตลอดเวลา (Always Tired)
การที่ร่างกายเผาผลาญพลังงานช้าลง นอกจากน้ำหนักจะเพิ่มขึ้นแล้ว เราจะรู้สึกเหนื่อยง่ายและเพลียตลอดเวลา ถึงแม้ว่าจะนอนพักผ่อนอย่างเพียงพอ
ไม่เพียงแค่นั้นนะครับ (3) งานวิจัยรายงานว่า กลุ่มผู้เข้าทดลองที่เป็นไฮโปไทรอยด์ยังไม่มีกำลังใจในการทำกิจกรรมต่างๆในชีวิตประจำวัน และไม่ใช่แค่ร่างกายเท่านั้นที่เพลีย แต่จิตใจก็ล้าตามไปด้วย
รู้สึกหนาวตลอดเวลา (Feeling Cold)
สังเกตไหมครับว่า เมื่อเราออกกำลังกายหรือเคลื่อนไหวร่างกาย อุณภูมิในร่างกายจะสูงขึ้นและเหงื่อก็จะไหลออกมา นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อร่างกายเราเผาผลาญพลังงานและไขมันส่วนเกินในร่างกาย
ทีนี้คนที่เป็นไฮโปไทรอยด์จะเผาผลาญพลังงานน้อยลง ทำให้อุณภูมิของร่างกายอยู่ในระดับต่ำตลอดเวลา จึงรู้สึกหนาวง่ายมาก
ดังนั้น ถ้าเพื่อนเรานั่งเหงื่อแตกอยู่ข้างๆจนต้องเปิดแอร์ แต่เรากลับรู้สึกเย็นๆ นี่ก็อาจจะเป็นสัญญาณเบื้องต้นของไฮโปไทรอยด์ครับ
ผมร่วง (Hair Loss)
รู้ไหมครับว่า รูขุมขุน (Hair Follicles) มีสเต็มเซลล์ (Stem Cell) อยู่ในนั้นด้วย เพราะร่างกายเราต้องสร้างเส้นผมที่ตายและร่วงอยู่ตลอดเวลา
ฮอร์โมนไทรอยด์จะเป็นตัวควบคุมการเจริญเติบโตของผม และงานวิจัยพบว่า (4) รูขุมขนจะไม่ผลิตเส้นผมขึ้นใหม่ ถ้าระดับฮอร์โมนไทรอยด์อยู่ในระดับต่ำเกินไป
ท้องผูก (Constipation)
โดยทั่วไป คนที่ไม่กินผัก ผลไม้ หรืออาหารที่มีเส้นใยอาหารอย่างเพียงพอ จะมีปัญหาเกี่ยวกับทางเดินอาหาร ลำไส้ และท้องผูก ดังนั้น ก่อนที่ฟันธงไปว่าเป็นไฮโปไทรอยด์ เราควรนึกย้อนกลับไปดูพฤติกรรมการกินของเราก่อน
แต่ถ้าอาการท้องผูกแย่ลงเรื่อยๆติดต่อกันหลายวัน รู้สึกปวดท้อง หรืออาเจียน ควรรีบเข้าพบแพทย์ทันทีเพื่อรับการตรวจ เพราะ 17% ของคนที่เป็นไฮโปไทรอยด์ จะมีอาการท้องผูกนั่นเองครับ (5)
ประจำเดือนมาไม่ปกติ หรือเยอะเกินไป (Heavy/Irregular Periods)
ฮอร์โมนไทรอยด์มีส่วนสำคัญในการควบคุมรอบเดือนของผู้หญิงเหมือน ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) และโปเจสเตอโรน (Progesterone) พอฮอร์โมนไทรอยด์อยู่ในระดับต่ำเกินไป ประจำเดือนอาจจะมาไม่ปกติ หรือบางทีอาจจะมาเยอะเกินไป
(6) งานวิจัยพบว่า กว่า 40% ของผู้หญิงที่เป็นไฮโปไทรอยด์ จะมีปัญหาเกี่ยวกับรอบเดือน
อย่างไรก็ตามครับ ถ้ามีปัญหาเรื่องประจำเดือนจนถึงขั้นกระทบกับการทำงาน และการใช้ชีวิตประจำวัน ผมแนะนำให้เข้ารับการตรวจดีกว่า เพราะมันอาจจะมีภาวะอื่นแทรกซ้อนที่ไม่ใช่แค่ฮอร์โมนไทรอยด์เท่านั้น เช่น มีถุงน้ำในรังไข่เยอะเกินไป (PCOS) เป็นต้นครับ
คำแนะนำจากโค้ชเค
ที่ผมเกริ่นไป คือ อาการเบื้องต้นของไฮโปไทรอยด์ แต่บางทีเราอาจจะมีอาการอื่นๆนอกเหนือจากนี้ เช่น
- กล้ามเนื้อและข้อต่ออ่อนแรง: เมื่อร่างกายต้องรักษาระดับพลังงานไว้ให้ได้มากที่สุด มันก็จะไปเผาผลาญพลังงานจากกล้ามเนื้อทันที ส่งผลให้เกิดอาการกล้ามเนื้อและข้อต่ออ่อนแรงครับ
- ผิวแห้งและคัน: เซลล์ผิวหนังจะมีการตายและเกิดใหม่อย่างรวดเร็วเหมือนกับเส้นผม แต่ถ้าฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ การผลัดเซลล์ผิวก็จะช้าลง ทำให้ผิวแห้ง และผิวหนังส่วนบนจะสะสมเชื้อโรคจนเกิดอาการคันครับ
- รู้สึกเครียดและซึมเศร้า: ถ้าฮอร์โมนไทรอยด์น้อยลง เราจะรู้สึกไม่กระฉับกระเฉงจนเกิดความเบื่อ เครียด และซึมเศร้าได้
- ไม่มีสมาธิและจำอะไรไม่ค่อยได้: ถ้ารู้สึกว่าการบวกเลขที่เคยทำอยู่ประจำกลายเป็นเรื่องยาก หรือใช้คำพูดผิดบ่อยขึ้นเรื่อยๆ นี่อาจจะเป็นสัญญาณเบื้องต้นของไฮโปไทรอยด์ครับ
ข่าวดี คือ ไฮโปไทรอยด์เป็นอาการที่รักษาหายได้ด้วยยา แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ เราต้องหมั่นสังเกตสัญญาณต่างๆจากร่างกายอยู่เสมอ ถ้ามีอาการผิดปกติ เช่น น้ำหนักขึ้น ผมร่วง รู้สึกหนาวสั่น และท้องผูก โดยไม่ทราบสาเหตุ ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ
ถ้าคิดว่าเนื้อหาในบทความนี้มีประโยชน์ อย่าลืมกด Share ด้วยนะครับ