ฮอร์โมน (เพศ) และ ไขมันในร่างกาย (Part II)
ฮอร์โมน เป็นเหมือนกุญแจปลดล็อกการทำงานต่างๆของร่างกาย และมีส่วนสำคัญในกระบวนการสังเคราะห์และเผาผลาญไขมันในร่างกาย
ดังนั้นเราต้องรู้หลักการทำงานของฮอร์โมนแต่ละตัว และวิธีที่จะกระตุ้นให้มันช่วยให้เราเผาผลาญไขมันมากขึ้น
สวัสดีครับ วันนี้ผมโค้ชเคจะมาอธิบายต่อ (หลังจากบทความ ฮอร์โมนและไขมันในร่างกาย Part I) เรื่องฮอร์โมนกับไขมันในร่างกาย ในบทความนี้ผมจะมาพูดถึงฮอร์โมนเพส (Sex Hormones) นั่นคือ ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone) ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) และโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ตามมาเลยครับ
ฮอร์โมน ในวัยเด็กเป็นอย่างไร?
ร่างกายเด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิง จะไม่แสดงความแตกต่างใดๆเลยในการสะสมไขมันในร่างกาย
แต่พอโตขึ้นมาผู้ชายก็จะเริ่มเสียงเปลี่ยน ผู้หญิงก็จะเริ่มมีประจำเดือน ฮอร์โมนเพศจะมีส่วนกระตุ้นให้ร่างกายสะสมไขมันในจุดที่เฉพาะของแต่ละเพศ
ภาพที่เห็นได้ชัดเจนสมัยในสมัยนี้คือ ผู้ชาย (สาวประเภทสอง) ที่กินยาต้านฮอร์โมนแอนโรเจน (Androgen) และกินฮอร์โมนเพศหญิงเสริม เขาจะมีไขมันหน้าท้องลดลง และมีไขมันที่สะโพกและขา (เอวคอด) เหมือนผู้หญิง (ถึงแม้ว่าจะแค่ระยะสั้นๆก็ตาม)
เท่าที่ผมศึกษาดูพบว่า ส่วนใหญ่ผู้หญิงที่เริ่มเข้าสู่วัยทองและผู้หญิงที่หมดประจำเดือน จะเริ่มสะสมไขมันที่พุงมากขึ้น (เหมือนผู้ชาย)
ยกเว้นแต่ว่าจะเข้ารักษาด้วย ฮอร์โมนทดแทนบำบัด (Hormone Replacement Therapy) เหตุผลหลักก็คือผู้หญิงวัยนี้จะมีฮอร์โมนเพศชาย เทสโทสเตอโรน มากขึ้นเรื่อยๆนั่นเอง
ส่วนฮอร์โมนเพศชาย เทสโทสเตอโรน (Testosterone) ถูกยกให้เป็นเจ้าพ่อฮอร์โมนในการเผาผลาญไขมัน แต่ผมว่าฮอร์โมนนี้มีทั้งด้านดีและด้านไม่ดี เพราะมันมีส่วนช่วย Lipoprotein Lipase (LPL) ในการสร้างเซลล์ไขมัน และในขณะเดียวกันมันก็มีส่วนช่วยให้ Hormone Sensitive Lipase (HSL) แยกกรดไขมันอิสระออกจากไตกลีเซอไรด์ เพื่อเผาผลาญเป็นพลังงานอีกด้วย
อย่างที่ผมเกริ่นไปในบทความ “ไขมันในร่างกาย มีกี่ชนิด” ว่าฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนมีส่วนกระตุ้นให้ผู้ชายสะสม ไขมันในช่องท้อง (Visceral Fat) มากกว่าผู้หญิง
แต่การกินยาลดฮอร์โมนนี้ก็ไม่ใช่คำตอบ ผู้หญิง (แปลงเพศเป็นผู้ชาย) ที่กินฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนเสริม จะเสี่ยงที่จะสะสมไขมันทั้งที่พุง (เหมือนผู้ชาย) สะโพกและขาเหมือนผู้หญิงด้วย
ส่วนฮอร์โมนเอสโตรเจน (ฮอร์โมนเพศหญิง) ก็เป็นเหมือนฮอร์โมนเพศชาย คือ มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งในกระบวนการสร้างไขมัน และกระบวนการเผาผลาญไขมันในร่างกายด้วย
ฮอร์โมนเพศหญิงทั้งเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน ก็มีความลึกลับซับซ้อนเหมือนตัวผู้หญิงนั่นแหละครับ ฮอร์โมนเพศหญิงจะไม่คงที่เหมือนผู้ชาย เพราะระดับฮอร์โมนจะแปรปรวนเมื่อมีรอบเดือน
ดังนั้นมันไม่ใช่เรื่องง่ายที่เข้าใจระบบฮอร์โมนของผู้หญิงแบบ 100% ว่าตัวไหนทำให้อ้วนตัวไหนทำให้ผอม
จำได้ไหมครับที่ผมเคยเกริ่นไปว่า กลุ่มฮอร์โมนแคททีโคลามีน (อะดรีนาลีน และ นอร์อะดรีนาลีน) มีตัวรับสัญญาณที่มีชื่อว่า Adrenoreceptor และจะแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ Beta และ Alpha
ถ้าฮอร์โมนแคททีโคลามีนไปรวมตัวกับ Beta-2 Receptor ร่างกายก็จะเผาผลาญไขมันมากขึ้น แต่ผลจะออกมาตรงกันข้ามทันที ถ้ามันไปรวมตัวกับ Alpha-2 Receptor
ที่ผมยกตัวอย่างให้ดูเพราะว่า ฮอร์โมนเอสโตนก็มีตัวรับสัญญาณคล้ายๆกับกลุ่มฮอร์โมนแคททีโคลามีนเหมือนกัน ดังนั้นจะฟันธงไม่ได้ว่า ฮอร์โมนเอสโตรเจนตกลงทำให้อ้วนหรือทำให้ผอม เพราะมันทำได้ทั้ง 2 อย่างในเวลาเดียวกัน
ส่วนฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ผู้เชี่ยวชาญหลายคนยังเชื่อว่ามันคือฮอร์โมนที่กระตุ้นให้ร่างกายสร้างเซลล์ไขมันมากขึ้น แต่ก็อีกแหละครับ จะไปกินยาต้านฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนก็ไม่ทำให้ผอมลงเหมือนกัน และอาหารเสริมที่ยับยั้งการทำงานของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ก็มีผลข้างเคียงเยอะด้วย
บทความแนะนำ: ประจำเดือน ช่วงลดน้ำหนัก
ฮอร์โมนเลปติน (Leptin)
ฮอร์โมนเลปติน (Leptin) คือฮอร์โมนที่สำคัญที่สุดในการควบคุมน้ำหนักและความอยากอาหาร ฮอร์โมนนี้จะถูกหลั่งออกมาจากเซลล์ไขมัน เพื่อส่งสัญญาณไปยังสมองว่า “ไขมันมีเพียงพอแล้วนะ”
จริงๆแล้วตอนแรกผมเข้าใจว่า ฮอร์โมนเลปตินน่าจะช่วยให้เราผอม และลดความอยากอาหารได้ แต่เอาไปเอามา ผมว่าฮอร์โมนนี้เหมือนเป็นตัวส่งสัญญาณให้เรากินจนมีพลังงานสำรองที่เพียงพอมากกว่า
สมมุติว่าเราลดพลังงานแคลอรี่ไปเรื่อยๆเพื่อลดน้ำหนัก (โดยไม่ออกกำลังกาย) เจ้าฮอร์โมนเลปตินนี่แหละครับจะเป็นตัวควบคุมอัตราการเผาผลาญไขมัน เพราะมันจะทำทุกวิถีทางเพื่อให้เราอยู่รอด ด้วยการสำรองไขมันไว้ให้มากที่สุด (ฮึ!!!)
นักกำหนดอาหารพบว่า เมื่อเรากินน้อยลง ระดับฮอร์โมนเลปตินจะดิ่งลงต่ำมาก และจะอยู่ในระดับนั้นจนกว่าเราจะกินอาหารเยอะๆเหมือนเดิมอีกที
ดังนั้นเราต้องหาวิธีไม่ให้มันมีระดับต่ำลงในช่วงที่เราไอเดทต่างหาก ถึงจะเผาผลาญไขมันได้มากที่สุด
บทความแนะนำ: ฮอร์โมนเลปติน (Leptin) ยิ่งมีเยอะ ยิ่งผอม
ฮอร์โมนเลปตินมีความสำคัญต่อกระบวนการเผาผลาญไขมันของร่างกาย ทั้งทางตรงและทางอ้อม เพราะมันมีส่วนช่วยให้กล้ามเนื้อ และตับนำกรดไขมันอิสระไปใช้มากขึ้น ช่วยให้การขนย้ายกรดไขมันอิสระจากเซลล์ไขมันไปยังเนื้อเยื่อต่างๆคล่องขึ้น และมันยังมีส่วนในการสร้างความสมดุลย์ของฮอร์โมนอื่นๆ โดยเฉพาะ ฮอร์โมนไทรอยด์ ฮอร์โมนคอติซอล ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) และฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone) ซึ่งผมเพิ่งยกตัวอย่างไป
วิธีควบคุมระดับฮอร์โมนเลปตินที่เราทำได้ง่ายๆ คือ เราต้องควบคุมอาหารให้เหมาะสม อย่างที่ผมเกริ่นไปว่า เราต้องพักผ่อนให้ร่างกายได้พักฟื้น และมีมื้อโกง (Cheat Meal) อย่างน้อยอาทิตย์ละ 1 ครั้ง เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างฮอร์โมนเลปตินมากขึ้น
บทความแนะนำ: ทำไมมื้อโกง (Cheat Meal) ไม่เหมาะกับผู้หญิง
อาหารเสริมพวกธาตุสังกะสี และวิตามินอี ก็มีส่วนช่วยกระตุ้นให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนเลปตินเพิ่มขึ้น แต่อาหารเสริมน้ำมันปลา จะทำให้ฮอร์โมนนี้ลดลง เพราะมันจะเข้าไปกระตุ้นให้ร่างกายเผาผลาญไขมันมากขึ้นนั่นเองครับ
ฮอร์โมนที่มีผลโดยตรงต่อระดับฮอร์โมนเลปติน คือ ฮอร์โมนคอร์ติซอล และ เอสโตรเจน
ฮอร์โมนคอร์ติซอลจะทำให้ร่างกายมีฮอร์โมนเลปตินมากขึ้น แต่เนื้อเยื่อต่างๆจะตอบสนองต่อฮอร์โมนเลปตินน้อยลง นั่นหมายความว่าเราจะกินมากขึ้น โดยเฉพาะอาหารที่มีน้ำตาลและไขมันสูงๆ ถึงแม้ว่าเราจะไม่หิวก็ตาม
Atrial Natriuretic Peptide (ANP)
กล้ามเนื้อหัวใจ คือตัวผลิตฮอร์โมน (Atrial Natriuretic Peptide: ANP ขึ้นมา และหน้าที่หลักของ ANP คือ จะเป็นตัวสื่อสารกับไต ต่อมหมวกไต เส้นเลือด เพื่อรักษาความสมดุลของ ระดับน้ำในร่างกาย ธาตุโพแทสเซียม โซเดียม และยังเป็นตัวสื่อสารกับเนื้อเยื่อไขมัน เพื่อที่จะเผาผลาญกรดไขมันอิสระมากขึ้นด้วย
ANP มีส่วนช่วยให้ร่างกายเราเผาผลาญไขมันได้มากขึ้นจริง แต่ปัญหาที่ผมเจอคือ มันไม่มีวิธีไหนที่จะควบคุมฮอร์โมนตัวนี้ได้เลย
ผมเชื่อว่าถ้าใครอ่านบทความตั้งแต่ต้น คงพอเข้าใจบ้างแล้วว่า ไขมันในร่างกายมีกี่ชนิด ร่างกายมีกระบวนการสะสมไขมันและเผาผลาญไขมันอย่างไร ท้ายสุด ฮอร์โมนแต่ละตัวมีบทบาทอย่างไรต่อไขมันในร่างกายของเรา ในบทความต่อไป (ในที่สุด!) ผมจะมาอธิบายถึงวิธีกำจัด ไขมันดื้อด้าน (Stubborn Fat)
ถ้าคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์ อย่าลืมกดปุ่ม Share ด้านล่างนะครับ ขอบคุณครับ