ฮอร์โมนเลปติน ยิ่งมีเยอะ ยิ่งผอมเร็ว?
ฮอร์โมนเลปติน (Leptin) หรือ ฮอร์โมนหยุดความหิว แต่ผมว่าเราอาจจะเข้ามันผิดมาตลอดก็ได้นะครับ เพราะนักวิยาศาสตร์ได้ทำการวิจัยและพบว่า ฮอร์โมนเลปติน คือ ต้นเหตุของวิกฤตปัญหาโรคอ้วนที่กำลังระบาดอยู่ทั่วโลกตอนนี้
วันนี้ผมโค้ชเค จะอธิบายว่าฮอร์โมนเลปตินคืออะไร และเกี่ยวข้องอะไรกับการลดน้ำหนัก อยากรู้ก็ตามมาเลยครับ
ฮอร์โมนเลปติน (Leptin) คืออะไร?
ฮอร์โมนเลปติน (Leptin) คือ ฮอร์โมนที่ควบคุมความหิว และระดับไขมันในร่างกาย ซึ่งจะทำงานตรงกันข้ามกับฮอร์โมนเกรลิน (Ghrelin) ที่เป็นตัวกระตุ้นให้ให้เกิดความหิว
เซลล์ไขมัน (Adipocyte) จะเป็นตัวหลั่งฮอร์โมนเลปตินออกมา เพื่อส่งสัญญาณไปยังสมองส่วน ไฮโปธาลามัส (Hypothalamus) ให้รู้ว่า ร่างกายมีไขมัน (พลังงานสำรอง) เพียงพอแล้ว
ใช่ครับ ร่างกายเราจะสะสมไขมันไว้เพื่อเป็นพลังงานสำรองตลอด ก็เผื่อเราไปติดถ้ำเหมือนทีมหมูป่า เราจะได้ไม่ขาดสารอาหารและเสียชีวิตไงหละครับ
รู้ไหมครรับว่า ขณะที่เรานอนหลับ ฮอร์โมนเลปตินยังมีส่วนช่วยในกระบวนการเผาผลาญพลังงานด้วย ดังนั้น การพักผ่อนอย่างเพียงพอ ก็เป็นวิธีลดน้ำหนักอีกวิธีหนึ่ง ถ้าเราพักผ่อนไม่เพียงพอ ร่างกายก็จะไม่สามารถหลั่งฮอร์โมนเลปตินออกมาได้ เราก็อาจจะหน้ามืดตามัว ไปกินของที่ไม่มีประโยชน์ เช่น โดนัท พิซซ่า และกาแฟเย็น เป็นต้น
ฮอร์โมนเลปติน คือฮอร์โมนที่หลั่งออกมาจากเซลล์ไขมันในร่างกาย หน้าที่หลักของฮอร์โมนนี้คือ ควบคุมปริมาณพลังงานแคลอรี่ที่ร่างกายต้องการต่อวัน และปริมาณไขมันที่สะสมในร่างกาย ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
ฮอร์โมนเลปตินทำงานอย่างไร?
กลไกการทำงานของฮอร์โมนเลปตินก็ง่ายๆครับ ยิ่งเรามีไขมันในร่างกายมากเท่าไหร่ เซลล์ไขมันก็จะยิ่งหลั่งฮอร์โมนนี้ออกมามากขึ้นเท่านั้น
หลังจากนั้นมันก็จะไหลผ่านกระแสเลือดไปยังสมองส่วนไฮโปธาลามัส ซึ่งสมองส่วนนี้จะเป็นตัวควบคุมความอยากอาหารนั่นเองครับ
ฮอร์โมนเลปติน ยังเป็นเหมือนตัววัดระดับไขมันในร่างกาย (Body Fat) ถ้าฮอร์โมนเลปตินมีเยอะ ก็หมายความว่าร่างกายได้สะสมไขมันในปริมาณที่เยอะแล้ว ในทางกลับกันถ้าฮอร์โมนเลปตินมีน้อย ก็หมายความว่า ไขมันในร่างกายมีน้อยเกินไปครับ
กลไกลการทำงานของฮอร์โมนเลปติน
เรากินอาหารเข้าไป –> ระดับไขมันในร่างกายสูงขึ้น –> กระตุ้นให้ระดับฮอร์โมนเลปตินมีมากขึ้น –> สมองส่งสัญญาณให้เรากินน้อยลง ร่างกายเผาผลาญไขมันมากขึ้น
แต่ถ้าเราลดน้ำหนักด้วยการอดอาหาร วงจรมันจะตรงกันข้ามทันที
เราอดอาหาร –> ระดับไขมันในร่างกายน้อยลง –> กระตุ้นให้ระดับฮอร์โมนเลปตินมีน้อยลง –> สมองส่งสัญญาณให้เรากินมากขึ้น ร่างกายเผาผลาญไขมันน้อยลง
ถ้าเราลดน้ำหนักผิดวิธีด้วยการอดอาหาร ร่างกายจะชะลอระบบการทำงานทุกอย่างทันที เพื่อให้เรามีชีวิตรอด แน่นอนว่าไขมันที่สะสมไว้เป็นพลังงานสำรอง จะถูกเผาผลาญเพื่อเป็นพลังงานทดแทน
แต่ปัญหามันจะเกิดตอนที่เราไปเจออาหารที่อยากกินนี่แหละครับ เพราะสมองจะทำทุกอย่างเพื่อที่จะกระตุ้นให้เรากินอาหารที่มีแคลอรี่สูงๆให้ได้มากที่สุด คนส่วนใหญ่พอตะบะแตก ร่างกายจึงก่อกบฏด้วยการสั่งให้กินแต่อาหารขยะในปริมาณเยอะๆ จนโย่โย่นั่นเองครับ
ภาวะดื้อต่อเลปติน (Leptin Resistance)
ภาวะดื้อต่อเล็ปติน (Leptin Resistance) เกิดจากการที่ร่างกายเรามีไขมันส่วนเกินเยอะเกินไป ส่งผลให้ระดับฮอร์โมนเลปตินในกระแสเลือดเยอะขึ้นไปด้วย
ตอนแรกนักวิทยาศาสตร์เขาก็แปลกใจเหมือนกันครับ เพราะการที่มีฮอร์โมนเลปตินมากขึ้น ร่างกายก็ต้องยิ่งเผาผลาญพลังงานมากขึ้น และความอยากอาหารก็ต้องลดลง ว่าไหมครับ?
แต่ปัญหามันอยู่ตรงที่ ฮอร์โมนเลปตินต้องเดินทางไปหาสมองผ่านทางกระแสเลือดเท่านั้น พอร่างกายเรามีไขมันมากขึ้น การไหลเวียนโลหิตก็จะไม่ดี ฮอร์โมนเลปตินก็ไม่สามารถเดินทางไปหาสมองได้
พอสมองไม่ได้รับสัญญาณปุ๊บ มันก็คิดว่าร่างกายกำลังขาดอาหาร (พลังงานสำรองมีน้อยเกินไป) จึงส่งสัญญาณให้เรากินเยอะขึ้นนั่นเอง นักกำหนดอาหารเชื่อว่า นี่คือต้นเหตุหลักๆของโรคอ้วนที่กำลังเป็นปัญหาระดับโลกอยู่ตอนนี้
สรุปคือ ภาวะดื้อต่อฮอร์โมนเลปติน จะส่งผลให้
- กินเยอะขึ้น เพราะสมองเข้าใจผิดว่าร่างกายไม่มีไขมัน และพลังงานแคลอรี่เหลือแล้ว จึงกระตุ้นให้เรากินบ่อย และเยอะขึ้น
- ร่างกายเผาผลาญพลังงานน้อยลง สมองเข้าใจว่าแหล่งพลังงานเหลือน้อยลง มันก็จะกระตุ้นให้ระบบการทำงานของร่างกายให้ทำงานช้าลง เพื่อประหยัดพลังงานแคลอรี่ ทั้งที่ไขมันที่พุงยังมีเป็นกองๆ
แล้วภาวะดื้อต่อฮอร์โมนเลปติน เกิดจากอะไร?
กรดไขมันอิสระ (Free Fatty Acid)
กรดไขมันอิสระ (Free Fatty Acid) จะพบมากในน้ำมันที่ใช้ปรุงอาหาร ซึ่งกรดไขมันอิสระนี้จะเข้าไปรบกวนการทำงานของสมองส่วน ไฮโปทาลามัน (Hypothalamus) ส่งผลให้สมองส่วนนี้ไม่สามารถรับสัญญาณจากฮอร์โมนเลปตินได้ปกติ
ฮอร์โมนเลปตินสูง (High Leptin Level)
ฮอร์โมนเลปตินที่สูงตลอดเวลา จะส่งผลให้ร่างกายไม่ตอบสนองกับฮอร์โมนนี้ มันก็เหมือนกันกับอินซูลินนั่นแหละครับ ถ้าเรากินอาหารที่มีน้ำตาลสูงเข้าไปบ่อยๆ ระดับอินซูลินก็จะมีระดับสูงเป็นประจำ ทำให้ร่างกายดื้อต่ออินซูลิน และร่างกายก็จะสะสมไขมันมากขึ้น
ฮอร์โมนเลปตินกับการลดน้ำหนัก
ช่วงที่เราลดน้ำหนักด้วยการควบคุมอาหาร และออกกำลังกาย ร่างกายจะนำไขมันที่สะสมไว้มาใช้มากขึ้น เมื่อไขมันในร่างกายมีน้อยลง ฮอร์โมนเลปตินก็มีน้อยลงตามไปด้วยเหมือนกัน ผลที่ตามมา คือ เราจะหิวบ่อยขึ้น และอยากจะกินแต่ของกินที่มีแคลอรี่สูงๆ
ผมว่าคนที่เคยลดน้ำหนักจะคุ้นเคยกับเหตุการณ์ที่ผมเพิ่งพูดถึงไป เพราะในช่วงแรกของการลดน้ำหนัก อะไรมันก็ง่ายไปหมด แต่พอเวลาผ่านไปแค่ 1 อาทิตย์ หรือ 1 เดือน เท่านั้นแหละ ความหิวจะเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว จนทำให้หลายคนล้มเลิกความตั้งใจไปเลย และกลับไปกินเหมือนเดิม
คำแนะนำจากโค้ชเค
จริงๆแล้ว ฮอร์โมนเลปตินเป็นฮอร์โมนที่มีประโยชน์ในการควบคุมความอยากอาหาร แต่พฤติกรรมการกินของคนไทยที่เปลี่ยนไปกินอาหารฟาสต์ฟู้ดมากขึ้น ทำให้ร่างกายสะสมไขมันมากเกินไป ส่งผลให้สมอง และฮอร์โมนเลปติน ไม่สามารถสื่อสารกันได้ปกติ
เมื่อเรารู้สาเหตุหลักๆแล้ว วันนี้ผมก็มีคำแนะนำดีๆ ที่อยากจะให้นำไปปรับใช้ เพื่อที่จะควบคุมให้ฮอร์โมนเลปตินทำงานได้ปกติเหมือนเดิมครับ
- เลี่ยง/งด อาหารแปรรูป: อาหารแปรรูปส่วนใหญ่จะมีน้ำตาล ไขมัน และโซเดียมในปริมาณที่สูงเกินไป จึงส่งผลให้ร่างกายสะสมไขมันเยอะขึ้น
- เน้นไปที่เส้นใยอาหาร: เส้นใยอาหารทั้งชนิดละลายในน้ำ และชนิดที่ไม่ละลายในน้ำ ล้วนช่วยให้เราอิ่มท้องนานขึ้น ลดความอยากอาหาร และกระตุ้นให้ระบบย่อยอาหารทำงานดีขึ้นด้วย
- ออกกำลังกาย: การออกกำลังกายจะช่วยให้ระดับฮอร์โมนอยู่ในระดับปกติ และร่างกายนำไขมันออกมาใช้มากขึ้น
- พักผ่อนให้เพียงพอ: การพักผ่อนไม่เพียงพอจะส่งผลให้สุขภาพโดยรวมพัง และน้ำหนักเกิน
- ลดระดับไขมันในเลือด: ไขมันในเลือดที่เรียกว่า ไตรกลีเซอร์ไรด์ (Triglycerides) นั้นจะไปบล็อคสัญญาณที่ฮอร์โมนเลปตินพยายามสื่อสารกับสมอง ดังนั้นเราต้องลดปริมาณไขมันชนิดนี้ลง เช่น งดดื่มน้ำอัดลม เป็นต้นครับ
- เน้นอาหารที่มีโปรตีนสูง: โปรตีนช่วยเพิ่มมวลกล้ามเนื้อ ลดความอยากอาหาร กระตุ้นให้ร่างกายเผาผลาญพลังงานมากขึ้น และ ลดภาวะดื้อต่อฮอร์โมนเลปติน ครับ
ถ้าชอบบทความนี้ อย่าลืมกด Share เพื่อเป็นกำลังใจด้วยนะครับ ขอบคุณครับ