ฉลากอาหาร อ่านเป็นกันหรือเปล่า?
ฉลากอาหาร คือ ข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณสารอาหาร ปริมาณพลังงานแคลอรี่ และส่วนผสม
การที่เราจะลดน้ำหนักให้ได้ผล อาหารที่เรากินเข้าไปสำคัญที่สุด เพราะปริมาณแคลอรี่ต่อวันต้องไม่เกินกว่าที่ร่างกายเผาผลาญ ดังนั้นข้อมูลจากฉลากอาหารจะช่วยให้เราควบคุมพลังงานต่อวันได้ดีขึ้น
แต่…เราแน่ใจหรือเปล่าครับว่าอ่านข้อมูลบนฉลากอาหารถูกต้องแล้ว?
ในบทความนี้ ผมโค้ชเค จะมาอธิบายวิธีการอ่านฉลากอาหารที่ถูกต้อง ไม่แน่นะครับที่ลดน้ำหนักไม่ได้สักที ก็อาจจะเป็นเพราะอ่านผิดมาตลอด มาดูกันเลยดีกว่า
ฉลากอาหาร สำคัญยังไง?
ในยุคปัจจุบัน การใช้ชีวิตประจำวันของเราจะหนีไม่พ้น อาหารสำเร็จรูป เช่น อาหารสำเร็จรูปในร้านสะดวกซื้อ ในเมื่อเลี่ยงไม่ได้เราก็ต้องรู้วิธีอ่านฉลากอาหารที่ถูกต้อง
หลักการของการลดน้ำหนัก คือ เราต้องกินให้น้อยกว่าที่ร่างกายเผาผลาญต่อวัน และวิธีที่ดีที่สุดที่จะทำให้แน่ใจว่าเราไม่กินเยอะเกินไป คือ เช็คข้อมูลที่ฉลากอาหารว่ามีกี่แคลอรี่ ทุกครั้งก่อนซื้อ
มีคุณครูท่านหนึ่งเคยบอกผมว่า “ไม่มีขุมทรัพย์ไหนมีค่าเท่าขุมทรัพย์ทางปัญญา” ฉลากอาหารก็เป็นเหมือนแผนที่ไปหาขุมทรัพย์ทางปัญญาที่มีค่า โดยเฉพาะคนที่อยากลดน้ำหนักและดูแลสุขภาพ ไม่ควรที่จะละเลยเด็ดขาด
ผมว่าเราโชคดีมากเลยนะครับที่ตอนนี้มีกฏหมาย ให้ผู้ผลิตอาหารติดฉลากอาหาร หรือฉลากโภชนาการ เพื่อเป็นข้อมูลให้ผู้บริโภคอย่างเราศึกษาก่อนตัดสินใจ ไม่งั้นเราจะรู้ได้ยังไงว่าเขาใส่อะไรเข้าไปบ้าง (จะเปิดกล่องดูคนขายคงตะเพิดให้ออกนอกร้านกันพอดี)
หลักการอ่านฉลากอาหารที่ทุกคนต้องรู้
อย่างแรกเลย ผมแนะนำให้ข้ามวันผลิตและวันหมดอายุไปก่อน เพราะเราควรมาใส่ใจกับ สารอาหาร วิตามิน แร่ธาตุ ปริมาณแคลอรี่ และส่วนผสม ที่อยู่ข้างในดีกว่า
สารอาหารหลัก ที่เราจะพบบนฉลากอาหาร ส่วนใหญ่ก็จะเป็น ไขมัน (Fat) คาร์โบไฮเดรต (Carbohydrate) โดยเฉพาะน้ำตาลทุกชนิด Sucrose, Sugar, Sularose และ syrup เป็นต้น โปรตีน (Protein) วิตามิน และแร่ธาตุ (Micronutrients)
มีอะไรซ่อนอยู่ข้างใน?
นอกจากข้อมูลเกี่ยวกับสารอาหารที่เราต้องใส่ใจแล้ว ยังมีรายการส่วนผสมและวัตถุดิบที่เราห้ามละเลยเด็ดขาด
ส่วนใหญ่ผู้ผลิตจะเลียงลำดับวัตถุดิบจากมากไปหาน้อย เช่น ถั่วลันเตา 80% ถั่วลิสง 10% เป็นต้น
เทคนิคหนึ่งที่ผมอยากให้จำไปใช้ คือ ถ้าเราอ่านฉลากแล้วเราไม่เข้าใจ หรือไม่รู้ว่าวัตถุดิบนั้นคืออะไร มีความเป็นไปได้ว่า ส่วนประกอบนั้นมักจะไม่ได้มาจากธรรมชาติ (สังเคราะห์ทางเคมี) และอาจจะมีผลด้านลบต่อร่างกายด้วย
คำศัพท์หรือชื่อที่ไม่คุ้นเคย อาจจะเป็นคำที่นักการตลาดต้องการทำให้เรางง หรือเป็นคำที่ใช้ในห้องแลบทดลองเท่านั้น คำเหล่านี้แหละครับที่เราต้องระวัง เพราะส่วนใหญ่จะไม่ดีต่อสุขภาพทั้งนั้น
เกร็ดความรู้เรื่องน้ำตาล
ผู้ผลิตอาหารก็ฉลาดขึ้นเหมือนเรานี่แหละครับ ทุกวันนี้จะผลิตอะไรขึ้นมาขายเขาจะพยายามทำให้เราสับสนไว้ก่อน ถ้าจะยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดๆ ก็ต้องเป็นชื่อที่ใช้แทนน้ำตาลนี่แหละครับ
เพราะผู้ผลิตอาหารบางบริษัทจะไม่บอกตรงๆว่ามีส่วนผสมของน้ำตาล คำที่ใช้ส่วนใหญ่อาจจะเป็น
- น้ำตาลอินทรีย์ (Organic)
- Malt Syrup, Dextrose
- น้ำอ้อย
- HFCS (High Fructose Corn Syrupe
- เกลือ
- อบเชย (Cinnamon)
- โอลิโกฟรุกโตส (Oligo-fructose)
แต่ยังไง น้ำตาล ก็คือ น้ำตาล อยู่วันยังค่ำ จะเปลี่ยนชื่อเป็นล้านครั้ง ยังไงน้ำตาลก็ยังมีความหวานและมีแคลอรี่สูงเหมือนเดิมครับ
น้ำตาลสังเคราะห์ หรือน้ำตาลเทียม เมื่อเปรียบเทียบกับ น้ำตาลที่ได้จากอาหารที่เป็นธรรมชาติ เช่น ผักและผลไม้ ถึงแม้จะหวานเหมือนกัน แต่ประโยชน์ในการลดน้ำหนักไม่เหมือนกันนะครับ
น้ำตาลที่ได้จากธรรมชาติ มีคุณภาพและลักษณะเฉพาะที่น้ำตาลสังเคราะห์ไม่มี เช่น ถ้ากินผลไม้ เช่น กล้วย ในช่วงลดน้ำหนัก นอกจากจะไม่ทำให้เราอ้วนเลย ในทางกลับกันคาร์โบไฮเดรต (น้ำตาล) ที่เป็นธรรมชาติ เส้นใยอาหาร และวิตามินจากกล้วย จะช่วยให้เราลดน้ำหนักได้เร็วขึ้นด้วย
โฆษณาเกินจริง ผิดกฏหมายไหม?
จริงๆแล้ว การโฆษณาเกินจริงผิดกฏหมายนะครับ พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2552 มาตรา 22 บอกว่า “การโฆษณาจะต้องไม่ใช้ข้อความที่เป็นการไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค หรือใช้ข้อความที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมส่วนรวม ทั้งนี้ไม่ว่าข้อความดังกล่าวนั้นจะเป็นข้อความที่เกี่ยวกับแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพ หรือลักษณะของสินค้าหรือบริการ ตลอดจนการส่งของ การจัดหา หรือการใช้สินค้าหรือบริการ”
ผมเคยถามเพื่อนที่เป็นทนาย เขาตอบกลับมาว่า “กฏหมายมันจะมีช่องให้สู้เสมอ” ผู้ผลิตอาหารก็จะเปลี่ยนคำเพื่อให้เข้ากับกฏหมาย เช่น สมมุติว่าผมขายเค้ก ผมจะไม่เขียนว่า “ช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุน” แต่ผมบอกว่า “ช่วยให้สุขภาพกระดูกแข็งแรง” เปลี่ยนคำนิดหน่อยก็ใช้ได้แล้วครับ
และเมื่อกี้เดินไปซื้อของ เลยลองหยิบกาแฟยี่ห้อหนึ่งที่กำลังขายดิบขายดีตอนนี้ขึ้นมาดู เขาโฆษณาว่า “ส่วนประกอบสำคัญของกาแฟ คือ แอล-คาร์นิทีน” พอผมไปดูปริมาณส่วนผสมของ แอล-คาร์นิทีน กลับมีแค่ 0.5% เท่านั้น แต่ส่วนผสมหลักกลับเป็นครีมเทียม มีตั้ง 70% เชื่อแค่คำโฆษณาข้างกล่องไม่ได้แล้วนะครับ เราต้องอ่านฉลากด้วย
ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน
ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะมีกฏหมายบังคับให้ผู้ผลิตอาหาร แสดงรายระเอียดของอาหารแต่ละชิ้นอย่างละเอียด แต่เราไม่ควรเชื่อทุกอย่างที่เขาเขียนไว้
แม้แต่เมืองนอกเองบริษัทอาหารยังมีอิทธิพลต่อราคาและข้อมูลที่แสดงบนฉลากอาหารด้วย คือเราต้องเข้าใจก่อนครับว่า บริษัทที่ขายอาหารจุดประสงค์ของเขาคือทำกำไร ไม่ใช่เพื่อให้เราสุขภาพดี
สินค้าที่ได้รับการรับรองจากแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญที่มีชื่อเสียง ก็ไม่ใช่ว่าจะปลอดภัย 100% มีความเป็นไปได้สูงมากที่แพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญคนนั้นจะได้ค่าตอบแทนจากบริษัท
ผมไม่ได้บอกว่าอาหารทุกอย่าง ถูกอิทธิพลมืดคลอบงำซะหมดนะครับ ผมแค่อยากให้เราใช้สติและเผื่อใจไว้ด้วยว่า ทุกอย่างที่เราอ่านบนฉลากอาหารอาจจะไม่เป็นอย่างที่เราเข้าใจ
คำแนะนำจากโค้ชเค
อย่างที่ผมกล่าวไปเบื้องต้นว่า “ขุมทรัพย์ทางปัญหามีค่ามากที่สุด” ความรู้เรื่องสารอาหารและส่วนผสมต่างๆ ถ้าเราสละเวลาสักนิดเพื่ออ่าน เราได้จะได้ความรู้ใหม่ๆมาเพิ่ม
ช่วงแรกๆเราอาจจะไม่ชินที่ต้องหยิบของที่จะซื้อมาอ่านก่อนทุกครั้ง แต่ทำไปนานๆ ตาและสมองเราจะเรียนรู้ไปเองว่าต้องดูข้อมูลตรงไหน พอเรารู้จุดปุ๊บ เราก็จะสามารถอ่านได้เร็วขึ้น
การอ่านฉลากอาหารจะช่วยให้เรากินอย่างมีสติ และฝึกนิสัยที่จะทำอะไรเพื่อสุขภาพด้วยตัวเอง สำหรับใครที่อยากจะลดน้ำหนักและดูแลสุขภาพจริงๆ ผมแนะนำให้ซื้อวัตถุดิบมาทำเองที่บ้านดีกว่าครับ เราจะรู้วัตถุดิบที่ใส่เข้าไปทุกอย่าง ยิ่งพอใส่ใจลงไปด้วย อะไรๆก็อร่อย ว่าไหมครับ?
ถ้าชอบบทความนี้ อย่าลืมกดปุ่ม Share ด้วยนะครับ ขอบคุณครับ