ไม่สบาย ออกกำลังกายได้ไหม?
ไม่สบาย ป่วย ปวดหัวตัวร้อน ทำไมบางคนไปออกกำลังกาย ดันไม่เป็นไรเลย แต่กับอีกคนอาการอาจจะแย่ลง แสบคอ คัดจมูก และปวดหัวหนักกว่าเดิม ตกลงถ้าเรา ไม่สบาย ยังออกกำลังกายได้อยู่ หรือควรนอนพักผ่อนดี?
ในบทความนี้ผมโค้ชเค จะมาอธิบายถึงอาการป่วยต่างๆ ว่ามีผลกระทบกับการออกกำลังกายอย่างไร จะได้รู้สึกทีว่าควรนอนดูหนังหรือจะออกไปฟิตหุ่นดี ตามมาเลยครับ
ไม่สบาย ออกกำลังกายดีไหม?
การออกกำลังกายเป็นประจำ มีประโยชน์หลายอย่าง เช่น ช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานดีขึ้น ช่วยให้สมองโปร่ง ระบบเมตาบอลิซึม (Metabolism) ทำงานได้ดีขึ้น ลดความเสี่ยงโรคอ้วน น้ำหนักเกิน และโรคเบาหวาน ฯลฯ
ผู้หญิงทุกคนทราบกันดีอยู่แล้วว่า การออกกำลังกายมีประโยชน์มากมาย แต่การออกกำลังกายตอนที่เป็นหวัดหละ? แค่วิ่งสัก 30 นาที จะเป็นอะไรหรือเปล่า? จริงๆคำตอบมันก็ไม่ตายตัวครับ เอาเป็นว่าผมจะอธิบายเหตุผลทั้งหมดว่า ตกลงเราควรออกกำลังกายตอนป่วย หรือนอนพักผ่อนอยู่บ้านดี ตามมาเลยครับ…
เลยคอขึ้นมา (Above The Neck)
การออกกำลังกาย เป็นการสร้างนิสัยรักสุขภาพที่ดี และช่วยให้ร่างกายหลั่ง สารเอ็นโดรฟิน (Endorphins) หรือ สารเพิ่มความสุขออกมา แพทย์ผู้เชี่ยวชาญต่างแนะนำว่า ถ้าเรารู้สึกป่วยในส่วนที่ เลยคอขึ้นมา “Above The Neck” เช่น มีน้ำมูก จาม/ไอ เขาแนะนำว่า เราสามารถออกกำลังกายได้สบาย
แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่อาการป่วยลามลงมาหาตัวด้วย เช่น ท้องเสีย เจ็บหน้าอก ตัวร้อน ฯลฯ แพทย์จะแนะนำให้นอนพักผ่อน และดื่มน้ำเยอะๆ เพื่อที่จะให้ร่างกายได้พักผ่อน และสู้กับเชื้อโรคได้
ยังไงก็แล้วแต่ เรามาดูต่อดีกว่าว่า โรคหรืออาการแบบไหน ที่เราออกกำลังกายได้ และแบบไหนที่เราควรงดออกกำลังกายไปก่อน
ออกกำลังกายได้ ถ้ามีอาการเหล่านี้
โรคไข้หวัด (Common Cold)
โรคไข้หวัด เกิดจากการที่ร่างกายเราติดเชื้อไว้รัส ส่วนใหญ่จะอยู่ที่คอ (หวัดลงคอ) และจมูก (มีน้ำมูก) ความแข็งแรงของผู้หญิงแต่ละคนไม่เหมือนกัน ดังนั้นบางคนอาจจะมีอาการแค่ มีน้ำมูกไหล ปวดหัวนิดหน่อย ไอ และจาม เป็นต้น แต่บางคนอาการอาจจะหนักกว่านี้ เช่น อุณภูมิร่างกายสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
ถ้าอาการของไข้หวัดไม่หนักมาก เช่น ไอนิดหน่อย ไม่ปวดหัว น้ำมูกไหลแค่นิดเดียว ฯลฯ ถ้าเราคิดว่ามีแรงพอ การออกไปวิ่ง หรือ เล่นเวท เทรนนิ่ง (Weight Training) ที่ฟิตเนส ก็ยังสามารถทำได้อยู่ครับ
ประสบการณ์ส่วนตัวของผมคือ ช่วงที่มีไข้หวัด ผมไม่สามารถยกเล่นเวทได้ตามน้ำหนักที่เคยยก เช่น ท่า Squat ที่เคยทำได้ 100 กิโลกรัม ก็อาจจะเหลือแค่ 80-90 กิโลกรัมเท่านั้น ดังนั้นผมจึงอยากจะแนะนำว่า การออกกำลังกายระหว่างที่ไม่สบายนั้น ควรลดความเข้มข้นลง เช่น ลดน้ำหนักที่ยกลงประมาณ 10-20% และเวลาก็ควรลดลงด้วย
ข้อควรระวังอีกอย่าง คือ เชื้อไวรัสจากตัวเรา อาจจะแพร่ไปหาคนอื่นได้ เพราะฉะนั้นเราต้องดูแลความสะอาดทั้งตัวเรา และอุปกรณ์ให้ดีด้วย เช่น ใช้ผ้าเช็ดอุปกรณ์หลังเล่นเสร็จ ล้างมือบ่อยขึ้น และซื้อหน้ากากอนามัย (Mask) มาใส่ เผื่อเวลาไอ หรือจาม เชื้อไวรัสจะได้แพร่กระจายได้น้อยลง
ปวดหู (Earache)
ปวดหู (Earache) อาจเกิดกับหูทั้ง 2 ข้างพร้อมกัน หรือข้างใดข้างหนึ่ง อาการปวดจะอยู่ข้างในรูหู และอาจจะทำให้เรารู้สึกเจ็บ หรือแสบร้อนได้ ส่วนใหญ่อาการเหล่านี้จะหายไปเอง (แต่มันน่ารำคาญมาก)
อาการปวดหูนั้น ส่วนใหญ่จะพบในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ เพราะหูเด็กมักจะติดเชื้อ แต่สำหรับในกรณีผู้ใหญ่นั้น อาการเริ่มต้นจะเกิดจากการเจ็บคอ และลามมาหูมากกว่า (Referred Pain)
ผมไปศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมและพบว่า ผู้หญิงที่มีอาการปวดหูมักจะทรงตัวไม่อยู่ มีอาการเหมือนคนเป็นโรคไซนัสอักเสบ (Sinus) เจ็บคอ และบางรายก็ปวดฟันด้วย
ดังนั้น ถ้าใครมีอาการปวดหู และอยากออกกำลังกาย พยายามยืนขาเดียว เพื่อทดสอบร่างกายก่อนว่าเราเวียนหัวไหม และทรงตัวไม่อยู่หรือเปล่า เพราะถ้าทรงตัวไม่อยู่ แต่ดันทุรังออกไปวิ่ง อาจจะบาดเจ็บ หรือล้มกลางทางได้ อีกอย่างรูปแบบการออกกำลังกายที่ทำให้เกิดแรงดันที่บริเวณไซนัส และคอ ควรเลี่ยงไปก่อน
คัดจมูก (Stuffy Nose)
อาการคัดจมูก (อย่างเดียว) ไม่มีอันตรายต่อร่างกายเลย แต่ผมว่ามันกวนใจ และน่ารำคาญมากกว่า ถ้าเรามีอาการคัดจมูก เจ็บที่หน้าอก และไอบ่อยๆ ด้วย อย่าฝืนที่จะออกกำลังกายเลยครับ นอนพักผ่อน ต้มซุปไก่ทานที่บ้านดีกว่า
ผมเคยออกกำลังกายช่วงที่คัดจมูก/น้ำมูกไหล (นิดหน่อย) ระหว่างที่ออกกำลังกาย ผมจะหายใจคล่องขึ้น เพราะเหมือนไม่มีน้ำมูกไปอุดตันทางเดินหายใจ แต่พอหลังออกก็กลับมาเป็นเหมือนเดิม
ช่วงที่มีอาการคัดจมูกอยู่ ควรเลี่ยงการออกกำลังกายที่มีความเข้มข้นสูงไปก่อน และเลือกออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอที่มีความเข้มข้นต่ำดีกว่า เช่น เดินเร็ว และปั่นจักรยาน เป็นต้น
เจ็บคอ (Sore Throat)
อาการเจ็บคอ มักจะเกิดจากเชื้อไวรัสที่มากับโรคไข้หวัด ในกรณีนี้ผมอยากแนะนำว่า ถ้าเราเป็นไข้ตัวร้อน ไอมากขึ้น กลืนน้ำลายยาก ควรงดการออกกำลังกายไปก่อน เพราะอาการเจ็บคออาจจะแย่ลงกว่าเดิมได้
แต่ถ้าเราแค่เจ็บคอไม่มาก และมีอาการข้างเคียงจากไข้หวัดนิดหน่อย เช่น เหนื่อยง่าย การออกกำลังกายที่มีความเข้มข้นต่ำ ก็ยังทำได้อยู่ ทั้งนี้ทั้งนั้น เราก็ควรจะลดความเข้มข้น และเวลาในการออกกำลังกายลงด้วย และอย่าลืมดื่มน้ำเยอะๆเพื่อให้ร่างกายกำจัดเชื้อไว้รัสได้เร็วขึ้นด้วยนะครับ
ห้ามออกกำลังกายเด็ดขาด ถ้ามีอาการเหล่านี้
อย่างที่ผมยกตัวอย่างไป ถ้าอาการป่วยไม่หนักมาก เรายังสามารถออกกำลังกายได้ แค่ลดความเข้มข้น (Intensity) และเวลา (Duration) ลงให้เหมาะสม แต่ถ้าใครมีอาการที่ผมจะกล่าวถึงต่อไปนี้ ควรงดการออกกำลังกายไปก่อน
เป็นไข้ตัวร้อน (Fever)
ไข้ (Fever) คือ อาการที่ร่างกายเรามีอุณภูมิที่สูงเกินไป (ประมาณ 37 ℃) สาเหตุอาจจะเกิดจากเชื้อไวรัส หรือแบคทีเรีย
สังเกตง่ายๆครับถ้าเราเป็นไข้ เราจะอ่อนแรง (มาก) ปากแห้ง หิวน้ำบ่อย ปวดตามกล้ามเนื้อ และท้ายสุด เบื่ออาหาร การออกกำลังกายถึงแม้ว่าจะมีความเข้มข้นต่ำ แต่ก็สามารถทำให้ร่างกายขาดน้ำ และอาการของโรคแย่ลงได้อย่างรวดเร็ว
พอร่างกายเรากำลังอ่อนแอ และซ่อมแซมตัวเองอยู่ แต่ยังฝืนออกกำลังกาย ความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุ และบาดเจ็บจะสูงมาก ดังนั้น จำไว้เลยครับว่า เป็นไข้ ปวดหัว ตัวร้อน ต้องพักผ่อนให้มากๆ ห้ามออกกำลังกายเด็ดขาด
ไอเรื้อรัง (Frequent Cough)
มันจะไม่มีอะไรน่าห่วงเลย ถ้าเราไอเพราะละคายเคืองที่คอ หรือไอเพื่อเคลียร์เสมหะออกไป เพราะนี่คืออาการตอบสนองของร่างกายที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ
แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่เราไอบ่อยขึ้น จนกลายเป็นโรคไอเรื้อรัง เราอาจจะกำลังติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ หรือ นี่อาจจะเป็นอาหารเบื้อต้นของโรคปอดบวม (Pneumonia) ก็ได้
นี่คือบทเรียนที่ผมได้มาจากการออกกำลังกาย ระหว่างที่กำลังหายจากไข้หวัด ช่วงนี้ทุกคนรู้อยู่แล้วว่าเราจะไอบ่อย คอแห้ง บางคนไอจนนอนไม่หลับ จากประสบการณ์ตรง ผมถึงได้รู้ว่า การไอสามารถทำให้เราหายใจไม่ทั่วท้อง (โดยเฉพาะตอนที่หัวใจเต้นเร็วๆระหว่างออกกำลังกาย) แถมเสี่ยงต่อการบาดเจ็บด้วย เพราะยกเวทไปได้ครึ่งหนึ่งอาการไอเริ่มก่อตัวขึ้นมา ทำให้ต้องหยุดกลางคลัน
อีกอย่าง ตอนออกกำลังกายที่ฟิตเนส ผมมักจะเห็นหลายคนที่วิ่งไป ไอไป ซึ่งผมมองว่ามันไม่ค่อยดีสำหรับคนที่วิ่งอยู่ข้างๆสักเท่าไหร่ เพราะเชื้อโรคสามารถแพร่กระจายไปได้ในวงกว้างไปหาคนอื่นๆได้
แน่นอนว่า โดยหลักการแล้ว ถ้าไอแค่นิดหน่อยก็สามารถออกกำลังกายได้อย่างปลอดภัย แต่ถ้ามองในแง่ของการกระจายเชื้อโรค ผมอยากจะแนะนำให้นอนพักผ่อนอยู่บ้านให้หายไอก่อนดีกว่าครับ
ท้องเสีย
ถ้ามีอาการเกี่ยวกับกระเพาะ ลำไส้ และระบบทางเดินอาหาร เช่น ไวรัสลงกระเพาะ เราไม่ควรออกกำลังกายเด็ดขาด บางคนไปฝืนออกกำลังกาย อาการยิ่งหนักขึ้น เช่น เวียนหัว อาเจียน ท้องเสียหนักกว่าเดิม ปวดท้อง เบื่ออาหาร ฯลฯ
ส่วนใหญ่อาการท้องเสีย มักจะมาพร้อมกับอาเจียน อาการ 2 อย่างนี้จะทำให้ร่างกายขาดน้ำได้ ซึ่งจะยิ่งไปกระตุ้นให้การท้องเสียหนักขึ้นกว่าเดิม อีกอย่าง โรคไวรัสลงกระเพาะ มันยังสามารถกระจายไปหาเพื่อนร่วมฟิตเนสด้วย
สรุป ถ้ามีปัญหาเกี่ยวกับกระเพาะ ลำไส้ และทางเดินอาหาร ควรนอนพักผ่อน หรือ ปูเสื่อโยคะเล่นคนเดียวที่บ้านดีกว่าครับ
ไข้หวัดใหญ่ (Influenza)
ไข้หวัดใหญ่ คืออาการป่วยเรื้อรังที่เกิดจากการติดเชื้อไว้รัสในระบบทางเดินหายใจ อาการเบื้อต้นก็จะมี เจ็บคอ ปวดตามกล้ามเนื้อ เหนื่อยง่าย ปวดหัว ไอ และคัดจมูก อาการไข้หวัดใหญ่จะขึ้นอยู่กับความแข็งแรงของร่างกายของแต่ละคนด้วย บางคนก็อาจจะมีแค่อาการที่ผมกล่าวมาเบื้องต้น แต่บางคนก็อาจจะต้องแอดมิดที่โรงพยาบาล หรือเสียชีวิตได้ ไข้หวัดใหญ่จะใช้เวลารักษาให้หายไปประมาณ 1-2 อาทิตย์
คนที่เป็นไข้หวัดใหญ่ควรงดออกกำลังกายไปก่อน เพราะช่วงนี้ร่างกายต้องการพักฟื้น และการออกกำลังกายจะทำให้ร่างกายขาดน้ำมากขึ้น ส่งผลให้อาการไข้หวัดหนักกว่าเดิม อีกอย่าง การออกกำลังกายจะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย (Immune System) ไม่ทำงานด้วย
อีกอย่าง ไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่แพร่ไปหาคนอื่นได้ง่ายมาก เช่น แค่คุยกับเพื่อน ไอ หรือจามใกล้ๆ แค่นี้เพื่อนเราก็สามารถติดเชื้อไว้รัสจากเราได้แล้ว ดังนั้นถ้ารักคนอื่น และตัวเอง เมื่อเป็นไข้หวัดใหญ่ งดออกกำลังกาย และพักผ่อนให้มากๆครับ
ต้องรอนานแค่ไหนกว่าจะออกกำลังกายได้?
ผมไม่รู้ว่าคนอื่นรู้สึกอย่างไร แต่ช่วงที่ผมเป็นหวัดอาทิตย์หนึ่ง ผมแทบจะลงแดง เพราะผมอยากออกกำลังกายมาก และตอนนั้นก็เข้าใจผิดด้วยว่า ถ้าไม่ได้ออกกำลังกายอาทิตย์หนึ่ง ที่ผมลงทุนลงแรงมาเป็นปี คงต้องหายไปในพริบตาแน่ๆ
จริงๆแล้ว มันไม่ได้เป็นอย่างนั้นเลยครับ หลังจากหายป่วยแล้ว เรี่ยวแรงยังมีอยู่เหมือนเดิม และมวลกล้ามเนื้อก็ไม่ได้หายไปด้วย
งานวิจัยพบว่า ถ้าเราหยุดออกกำลังกายทันที ร่างกายจะเริ่มสูญเสียมวลกล้ามเนื้อไปเรื่อยๆ หลังจากอาทิตย์ที่ 3-4 นับจากวันที่เราหยุดออกกำลังกาย ส่วนความแข็งแรงจะค่อยๆลดลง 10 วัน หลังจากที่หยุดออกกำลังกาย ดังนั้นถ้าเราป่วยแค่ 7 วัน ทั้งความแข็งแรง และมวลกล้ามเนื้อก็ยังจะรอเราอยู่เหมือนเดิมครับ (Hurrayyy!)
พอเราหายป่วยกลับมา ผมอยากแนะนำว่า ค่อยๆเพิ่มเวลา และความเข้มข้นของการออกกำลังกายไปเรื่อยๆ ยกตัวอย่างเชช่น อย่าเพิ่งวิ่งไกล หรือ ใช้เวลานานเท่ากับก่อนตอนที่เรายังไม่ป่วย เพราะร่างกายยังต้องมีการปรับตัวอยู่ เป็นต้น หมั่นสังเกตสัญญาณต่างๆจากร่างกายให้ดี และอย่าลืมดื่มน้ำเปล่าให้มากๆด้วยนะครับ
รู้ไหมครับว่า เรายังจะสามารถกระจายเชื้อไว้รัสไปยังคนอื่นได้ แม้ว่าเราจะหายป่วยมาแล้ว 1 อาทิตย์ ดังนั้น 7 วัน หลังจากหายป่วย ถ้าเป็นไปได้ ให้ใส่หน้ากากอนามัย (Mask) เพื่อป้องกันการกระจายของเชื้อไว้รัสด้วยนะครับ
ทิ้งท้าย…ก่อนไป
ถ้าเรามีอาการท้องผูก ท้องเสีย อาเจียน วิงเวียนศรีษะ หน้ามืด ตาลาย ตัวร้อน และไอเรื้อรัง ช่วงนี้พยายามงดออกกำลังกายไปก่อน ควรพักผ่อนให้เพียงพอ และดื่มน้ำเปล่าให้มากๆ เพื่อที่ร่างกายจะได้สู้กับเชื้อโรคได้ดี และเร็วขึ้น
แต่ถ้าเรามีอาการเจ็บคอ คัดจมูก หรือไอนิดหน่อย เรายังสามารถออกกำลังกายได้อยู่ ถ้าสังเกตว่าความแข็งแรงลดลง เราควรลดความเข้มข้น และระยะเวลาในการออกกำลังกายลงด้วย เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายในช่วงนี้
ถ้ามีคำถาม หรือสงสัยอะไรเกี่ยวกับอาการต่างๆ ควรพบแพทย์เพื่อเข้าตรวจ และขอคำปรึกษาทันที
ถ้าชอบ และคิดว่าบทความที่ผมเขียนมีประโยชน์ รบกวนฝากกดปุ่ม Share ด้านล่าง เพื่อให้เพื่อนเราได้อ่านด้วยนะครับ ขอบคุณครับ